รายการอัพเดท

หนังสือดีน่าสะสม ของคนรักหนังสือ มีแล้วที่นี่ http://www.thaibook.net/

วันจันทร์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2554

แกะรอยโพสต์โมเดิร์นใน Kafka on the Shore ของ ฮารูกิ มูราคามิ


September 18, 2008
โดย นริศรา ศิริมงคล

“God only exists in people’s minds. Especially in Japan, God’s always been a flexible concept. Look at what happened after the war. Douglas MacArthur ordered the divine emperor to quit being God, and he did, making a speech saying that he was just an ordinary person. So after 1946 he wasn’t God anymore. That’s what Japanese gods are like—they can be tweaked and adjusted. Some American chomping on a cheap pipe gives the order and prestochange-o—God’s no longer God. A very postmodern kind of thing. If you think God’s there, He is. If you don’t, He isn’t…”

(Murakami, Haruki. 2005: 375)


นวนิยายขนาดยาวของฮารูกิ มูราคามิ (Haruki Murakami) เรื่อง Kafka on the Shore ถูกจัดอยู่ในประเภทแฟนตาซี (Fantasy) เพราะความที่มันมีส่วนประกอบของเรื่องเหนือจริงและเหนือธรรมชาติ ถ้าจะมองอย่างนั้นก็ไม่ผิด แต่เมื่อมองให้ลึก นวนิยายเรื่องนี้ซ่อนอะไรไว้มากกว่าแค่นวนิยายแฟนตาซี มันเป็นนวนิยายที่มีความเป็นโพสต์โมเดิร์นหรือหลังสมัยใหม่ (Postmodern)อยู่มากโขเลยทีเดียว ตัวมูราคามิเองก็มิได้ยอมรับว่าตัวเองเป็นนักเขียนหัวโพสต์โมเดิร์น1 บทความชิ้นนี้จึงเป็นความพยายามที่จะค้นหาหลักฐานมาพิสูจน์ว่านวนิยายเรื่องนี้มีลักษณะตรงกับวรรณกรรมโพสต์โมเดิร์นอย่างไร ทั้งนี้ไม่ได้เป็นการจับผิดนักเขียนแต่เป็นการศึกษาว่าโพสต์โมเดิร์นนั้นมีอิทธิพลต่อคนร่วมสมัยเราอย่างไร ถึงขนาดที่นักเขียนคนหนึ่งเขียนงานที่มีลักษณะตามวรรณกรรมโพสต์โมเดิร์นได้โดยที่เจ้าตัวก็ไม่รู้ตัว

ก่อนจะเข้าเรื่องความเป็นโพสต์โมเดิร์นในนวนิยายเรื่องนี้ จะขอเล่าเรื่องย่อๆของนวนิยายเรื่องนี้ให้ฟังกันก่อน อย่างน้อยก็คงจะพอช่วยให้เห็นภาพได้ นวนิยายเรื่อง Kafka on the Shore เป็นนวนิยายที่เล่าเรื่องสลับกันสองเรื่องของคนสองคนและผู้คนรอบๆตัวพวกเขา เรื่องนี้มีพระเอกสองคน คนหนึ่งเป็นเด็กหนุ่มอายุเพิ่งจะครบ 15 ปีและเป็นเด็กหนีออกจากบ้านในวันเกิดตัวเอง เขาเรียกตัวเองว่าคาฟกา ทามูระ (Kafka Tamura) ตามนักเขียนที่ชื่นชอบซึ่งก็คือ ฟรันซ์ คาฟกา เขามีความสัมพันธ์ไม่ดีนักกับพ่อ ส่วนแม่และพี่สาวก็ทิ้งไปตั้งแต่อายุ 4 ขวบ ทำให้เขามีปมด้อยเสมอมา เหตุผลที่คาฟกาหนีออกจากบ้านก็เพราะต้องการหนีคำสาปแช่งของพ่อ ที่ได้บอกไว้ว่าสักวันเขาจะฆ่าพ่อและหลับนอนกับแม่และพี่สาว คำทำนายนี้ทำให้เขาเดินทางหนีชะตากรรมเหมือนกับอีดิปุสแต่กลับต้องเข้าไปเจอกับเรื่องมากมาย เขาเดินทางไปที่เกาะชิโกกุซึ่งเงียบสงบ เขาได้พำนักอยู่ที่ห้องสมุดอนุสรณ์โคมุระ ที่นั่นเขาได้พบกับ โอชิมะ บรรณารักษ์สองเพศผู้รอบรู้และมิสซาเอกิ หญิงสาววัย 50 ที่มีความทรงจำแสนเศร้าทำให้เธอต้องจมอยู่ในห้วงอดีต การได้พบสองคนนี้เหมือนเป็นการที่เขาเดินเข้ามาติดกับดักของชะตากรรม

พระเอกอีกคนหนึ่งเป็นชายวัยปลดเกษียณชื่อ นาคาตะ เขามีความ “พิเศษ” ตรงที่เขาอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้และมีคลังคำต่ำกว่าเด็กประถมปลาย ที่เป็นอย่างนี้เพราะอุบัติเหตุลึกลับช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ความพิเศษอีกอย่างของนาคาตะคือเขาสื่อสารกับแมวได้ ดังนั้นเขาจึงมักถูกว่าจ้างให้ตามหาแมวที่หายไปของคนแถวบ้าน อยู่มาวันหนึ่งเขาได้รับการจ้างให้ไปตามหาแมวตัวหนึ่ง ซึ่งการตามหาในครั้งนี้ดึงเขาเข้าไปพัวพันกับคดีฆาตรกรรม Johnnie Walker หลังจากนั้นนาคาตะสูญเสียความสามารถในการสื่อสารกับแมว เขาจึงออกเดินทางไปทำอะไรสักอย่างซึ่งเขาก็ไม่รู้ว่าคืออะไร รู้แต่เพียงว่าตอนนี้ควรทำอะไร ขั้นตอนต่อจากนั้นเขามิอาจรู้ได้ ได้แต่รอให้ชะตากรรมนำพา

เรื่องของสองคนนี้ถูกเล่าสลับบทกันในแนวขนาน โดยที่เรื่องของคาฟกาจะอยู่ในบทเลขคี่ ส่วนนาคาตะอยู่ในบทเลขคู่ แรกๆอาจจะดูเหมือนเป็นสองเรื่องที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกันเลย แต่ในตอนกลางของเรื่องมีเหตุการณ์ที่ทำให้ทั้งสองเรื่องนี้มาบรรจบกันและนำไปสู่บทสรุปที่ดูเหมือนจะไม่ค่อยจะ “สรุป” อะไรให้ผู้อ่านนักตามประสาโพสต์โมเดิร์น



ผู้เขียนนั้นสำคัญไฉน

แม้จะมีความคิดเรื่องของ “อวสานของผู้แต่ง” โดยโรล็องต์ บาร์ตส์ (Roland Barthes) 2ประดับวรรณกรรมโพสต์โมเดิร์นเพื่อให้ผู้อ่านสามารถตีความหนังสือแต่ละเล่มที่อ่านตามแต่ใจอยากให้เป็น แต่การอ่านหนังสือของมูราคามิโดยที่ไม่รู้จักตัวตนของมูราคามิถือได้ว่าขาดทุน ผู้อ่านมากมายมีความรู้สึกอยากรู้จักมูราคามิให้มากเพื่อที่จะเข้าใจสิ่งที่เขาเขียนแต่สิ่งที่เขาเขียนนั่นแหล่ะคือตัวตนของเขา แม้ว่าเจ้าตัวจะปฏิเสธเสียงแข็งเลยก็เถอะ มูราคามิเป็นคลื่นลูกใหม่แห่งวงการวรรณกรรมญี่ปุ่นและยังเป็นนักเขียนที่เป็นที่ชื่นชอบของคนทั่วโลก แต่ตัวเขาต้องต่อสู้ฟันฝ่าอุปสรรคภายในวงการวรรณกรรมของญี่ปุ่นที่จงเกลียดจงชังเขา โดยเฉพาะนักเขียนรางวัลโนเบลอย่างเคนซาบุโร่ โอเอะ (Kenzaburo Oe) ที่กล่าวโจมตีงานของมูราคามิในช่วงที่เริ่มมีชื่อเสียงในญี่ปุ่นว่าเป็นเพียง “ภาพจำลองอนาคตญี่ปุ่นที่สะเปะสะปะไร้ทิศทาง” และ “ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการเรียกร้องความสนใจจากปัญญาชน” ทั้งนี้ก็เพราะนวนิยายแทบทุกเรื่องของมูราคามิมีกลิ่นอายของตะวันตกคละคลุ้งอยู่ตลอดเรื่อง ถ้าไม่ใช่เพราะชื่อตัวะครหรือสถานที่ที่เป็นญี่ปุ่นแล้ว คนอ่านอาจจะคิดว่าเรื่องเหล่านั้นเกิดขึ้นสักที่ไหนสักแห่งในอเมริกา หรือทวีปยุโรป แต่ตรงนี้เองที่ทำให้มูราคามิเป็นที่รังเกียจของโอเอะ เพราะโอเอะวิจารณ์ว่ามันเป็นความลุ่มหลงในอเมริกาและเปรียบเทียบว่ามันเป็นเหมือน “เนยที่ส่งกลิ่นเหม็นเน่าคลุ้งชวนอดสู”

ตลอดเวลาในอาชีพการเขียนของเขา มูราคามิพยายามเขียนงานที่จะมีส่วนช่วยให้ญี่ปุ่นได้ฝ่าฟันความแปลกแยกออกมาพูดคุยกับโลกภายนอกได้ ตัวมูราคามิเองนั้นก็มีความคิดที่มีส่วนคล้ายกับแนวคิดหลายๆอย่างของโพสต์โมเดิร์น ตัวอย่างเช่นการที่เขาวิจารณ์สังคมญี่ปุ่นว่าเป็นสังคมที่แปลกแยกออกจากโลกภายนอกและต้องการรื้อโครงสร้างเดิมของการเขียนวรรณกรรมญี่ปุ่น ในขณะที่ตัวมูราคามิชื่นชมวรรณกรรมจากอเมริกา นักเขียนญี่ปุ่นหลายคนมีความเป็นปรปักษ์ต่ออเมริกา หลายคนมีความทรงจำเลวร้ายต่อเพราะเหตุการณ์เข้าครอบครองญี่ปุ่นช่วงสั้นๆของอเมริกาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มูราคามิจึงเป็นนักเขียนคนแรกที่ไม่ได้รู้สึกติดลบต่ออเมริกา อาจจะเป็นเพราะว่าเขาไม่ได้มีอคติต่ออเมริกาและเขาเติบโตมากับการอ่านหนังสือของนักเขียนชาวอเมริกันทำให้เขาได้ก้าวผ่านกรอบแห่งความแปลกแยกที่ครอบคลุมญี่ปุ่นไว้ได้



จากญี่ปุ่นสู่โลกกว้างในแบบโพสต์โมเดิร์น

เนื่องจากได้กล่าวไปแล้วว่าทัศนคติของมูราคามิที่มีต่อสังคมญี่ปุ่นนั้นเหมือนทัศนคติของนักคิดทฤษฎีโครงสร้างที่มีต่อสังคมสมัยใหม่ (Modern) ซึ่งก่อให้เกิดความพยายามรื้อถอนระบบระเบียบแบบเก่า เขาคิดว่าคนญี่ปุ่นมีความภาคภูมิใจผิดๆเกี่ยวกับชาติตัวเอง เช่นความภูมิใจเกี่ยวกับภาษาญี่ปุ่นว่าเป็นภาษาที่พิเศษและมีบางจุดที่เหนือกว่าภาษาอื่น ซึ่งตรงนี้เขาไม่เห็นด้วย เพราะมูราคามิคิดว่าไม่มีภาษาไหนที่เหนือกว่าภาษาอื่นๆเลย นอกจากนี้เขายังเห็นว่าความสามัคคิและชาตินิยมของญี่ปุ่นนั้นรุนแรงเกินไป ความคิดความเชื่อเรื่องนี้ที่ทำให้ผู้คนหลงคิดว่าชาติตัวเองนั้นดีเหนือชาติอื่นๆ ในส่วนนี้มีความเกี่ยวข้องกับโพสต์โมเดิร์นเป็นอย่างมาก เพราะปรัชญาโพสต์โมเดิร์นมีความเกี่ยวข้องกับปรัชญาของภาษาอย่างแยกกันไม่ออก ความคิดพื้นฐานของพวกโพสต์โมเดิร์นที่ขัดแย้งกับพวกโมเดิร์นก็คือเรื่องภาษานี่แหล่ะ พวกโพสต์โมเดิร์นเชื่อว่าการรู้แจ้งของพวกโมเดิร์นนั้นเป็นของปลอมและเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เพราะมนุษย์เราติดอยู่ในคุกของภาษา จึงไม่สามารเข้าสู่ความจริงหรือการรู้แจ้งได้ ทุกๆอย่างเกิดขึ้นเพราะภาษา ชื่อเรียกของทุกอย่างก็ถูกคิดขึ้นผ่านภาษา หรือแม้แต่ในพระคัมภีร์ไบเบิ้ลพระเจ้าก็สร้างสรรพสิ่งบนโลกจากพระวาจา นักมานุษยวิทยาเชื่อว่าบทบาทหน้าที่ของพระเจ้าที่ลดน้อยถอยลงไปในสมัยนี้นั้นเป็นเพราะอิทธิพลของโพสต์โมเดิร์นที่ปฏิเสธศูนย์กลางและความเชื่อเก่าๆที่คุยโม้โอ้อวดว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดและจริงที่สุด

มูราคามิเชื่อว่าสิ่งที่ทำให้ผลงานของเขาเข้าสู่จิตใจของผู้อ่านได้ก็เพราะความเป็นสากลหรืออิทธิพลของวัฒนธรรมโลกที่ผู้อ่านพบเจอในหนังสือของเขา เพราะนวนิยายของมูราคามิได้รับอิทธิพลจากวรรณกรรมจากตะวันตกมาก โดยเฉพาะอเมริกา ตัวละครและเรื่องของเขาจึงมีความเป็นญี่ปุ่นโดยขนบอยู่น้อย แต่กลับมีความเป็นญี่ปุ่นแบบปัจจุบันมาก เพราะผู้คนมากมายในญี่ปุ่นทุกวันนี้มีความรู้สึกว่าพวกเขาถูกกีดกันออกจากโลกภายนอก เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วมูราคามิจึงถูกเหล่านักเขียนหัวอนุรักษ์นิยมกีดกัน ทำให้เขาตัดสินใจจากบ้านเกิดเมืองนอนไปอยู่อเมริกา เขาก้าวออกจากญี่ปุ่นเพื่อที่จะมองญี่ปุ่นอย่างคนนอกและสามารถเขียนเรื่องของญี่ปุ่นได้เด่นชัดขึ้น เป็นวิธีการมองญี่ปุ่นที่เหมือนกับโพสต์โมเดิร์นมองโลก ที่โพสต์โมเดิร์นปฏิเสธกรอบความคิดเก่าๆ ออกมานอกกรอบเพื่อมองสังคมได้อย่างชัดเจนขึ้น ทำให้สามารถวิพากษ์ได้อย่างชัดเจนขึ้นด้วย มูราคามิมีความคิดว่าคนญี่ปุ่นมีความภาคภูมิใจในประเทศตัวเองแบบผิดๆ แม้พวกเขาจะประสบความสำเร็จด้านวัตถุไปทั่วโลก แต่พวกเขาไม่เคยสื่อสารกับโลกในเรื่องจิตใจและวัฒนธรรมเลย มูราคามิจึงพยายามที่จะทำโลกได้รู้จักญี่ปุ่นและญี่ปุ่นได้รู้จักโลกมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม คำวิจารณ์ในทางลบของโอเอะก็มิได้ทำให้ความนิยมในตัวมูราคามิน้อยลงเลย ตรงกันข้ามยิ่งนานวันที่เขาผลิตผลงานใหม่ๆออกมา ยิ่งตอกย้ำปรากฎการณ์มูราคามิให้เป็นที่รู้จักกันในวงกว้างขึ้นไปอีก นักอ่านที่ชื่นชอบผลงานของมูราคามิมีตั้งแต่วัยรุ่นยันแก่ วัยรุ่นพบเจอตัวเองในตัวละครของมูราคามิเพราะความต้องการที่จะเป็นตัวของตัวเองแต่กลับต้องทำให้ตัวเองโดดเดี่ยว ส่วนคนที่พ้นวัยรุ่นไปแล้วค้นพบอดีตที่ตนโหยหาเหมือนตัวละครที่เป็นดัง “ฮิปปี้หลงยุคในโลกทุนนิยม” เพราะยุคสมัยแห่งความฝันอย่างปี 60 ได้ผ่านพ้นไปและถูกแทนที่ด้วยยุคสมัยที่ตามมาซึ่งเต็มไปด้วยเหตุผล ระบบและระเบียบแต่กลับขาดจิตวิญญาณและเต็มไปด้วยความสับสน ตัวละครของมูราคามิฟังเพลงของ The Beatles, The Beach Boys, The Rolling Stones และอื่นๆที่เป็นดังสัญลักษณ์แห่งยุคสมัยของความรัก สงคราม การโหยหาสันติภาพและการต่อสู้ประท้วงเพื่อให้ได้มาซึ่งอิสรภาพ คนหนุ่มสาวมักจะลุ่มหลงในวัฒนธรรมของเหล่าบุปผาชนที่สิ้นสุดไปแล้วหลายทศวรรษ ส่วนพวกที่มีอายุหน่อยก็รู้สึกโหยหาอดีตที่อะไรหลายๆอย่างก็สามารถเข้าใจง่ายกว่าสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อาการแบบนี้เรียกว่า Nostalgia ซึ่งเป็นอาการอย่างหนึ่งของโพสต์โมเดิร์น ตรงนี้อยากให้ทำความเข้าใจก่อนว่าแม้พวกโพสต์โมเดิร์นจะโหยหาอดีตแต่พวกเขาปฏิเสธประวัติศาสตร์ การที่โหยหาอดีตแสดงให้เห็นถึงความไม่มั่นคงทางอัตลักษณ์ ความแปลกแยกของตัวตนและบุคลิกภาพ (ซึ่งสามารถเชื่อมโยงไปสู่ทฤษฎีโพสต์โมเดิร์นอีกอันหนึ่งที่ชื่อว่า “การตายของพระเอก”) และอดีตนั้นถูกจับมาไว้ในปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นการทำลายประวัติศาสตร์อีกด้วย

ใน Kafka on the Shore ไม่สิ้นกลิ่นอายตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นดนตรี (ทั้งร็อคและคลาสสิก) ศิลปะวรณคดีและปรัชญา การอ้างอิงถึงวัฒนธรรมตะวันตกเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางสำหรับตัวละครด้วยกันเอง และสำหรับตัวละครกับผู้อ่านเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันในฐานะที่เป็นมนุษย์ที่ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมที่ไร้พรมแดนแม้จะอยู่กันคนละประเทศ



ลักษณะของวรรณกรรมโพสต์โมเดิร์นที่ปรากฏใน Kafka on the Shore

ลักษณะของวรรณกรรมแบบโพสต์โมเดิร์นที่ปรากฏให้เห็นใน Kafka on the Shore มีมากมายและจะถูกเสนอดังต่อไปนี้

ประการแรก สิ่งที่เราจะสังเกตเห็นได้ง่ายๆเลยคือเนื้อหา ถ้าจะจัดประเภทเนื้อหาให้เรื่องนี้ก็คงได้หลายประเภทเลยทีเดียว ตัวอย่างเช่น แฟนตาซี สืบสวนสอบสวน สยองขวัญ ผจญภัย โศกนาฏกรรม ความรัก ความเศร้าและปรัชญา ลักษณะการเขียนแบบนี้เรียกว่า “Pastiche” ซึ่งเป็นลักษณะหนึ่งในการเขียนวรรณกรรมโพสต์โมเดิร์นที่เป็นที่นิยมกัน Pastiche เป็นการปะติดปะต่อของเก่าเพื่อให้เกิดของใหม่ เพราะล่วงเลยมาถึงสมัยนี้ ยากนักที่จะหาความแปลกใหม่ได้ในวรรณกรรม จึงมีการนำหลายๆสไตล์มาผสมกัน นอกจากการแบ่งประเภทของเนื้อหาแล้ว ยังมีการหยิบยืมตัวบทอื่นๆมาดัดแปลงใช้ เช่น โศกนาฏกรรมของอีดิปุส ตำนานของฮิคารุ เก็นจิ ตำนานแห่งแสงจันทร์และสายฝน และ The Miner3 การหยิบยืมตัวบทอื่นๆมาดัดแปลงใช้เรียกว่า Intertextuality หรือสหบท นอกจากการหยิบยืมตัวบทอื่นๆมาใช้ในการดำเนินเรื่องแล้ว ยังมีการกล่าวถึงตัวบทอื่นๆเพื่อให้ผู้อ่านที่อาจมีความคุ้นเคยกับตัวบทนั้นๆได้สร้างความเชื่อมโยงระหว่างเหตุการณ์ในหนังสือกับตัวบทนั้นๆ ตัวอย่างเช่น ตอนที่โอชิมะบอกกับคาฟกาว่าไม่ใช่ทุกคนที่อยากมีอิสระ แม้ว่าจะไม่มีการกล่าวถึงแต่ผู้ที่รู้จักดอสตเยฟสกี้ต้องรู้สึกว่ามันคล้ายๆความคิดของดอสโตเยฟสกี้ที่ถูกเสนอในตอนหนึ่งของนิยายคลาสสิกเรื่องพี่น้องคารามาซอฟ ซึ่งเป็นบทที่โด่งดังที่สุดในเรื่องนั้น หรือการที่ตัวละครอย่างคาฟกามีชีวิตที่คล้ายๆกับฟรันซ์ คาฟกาตัวจริงตรงที่ทั้งสองต้องใช้ชีวิตใต้เงาของผู้เป็นพ่อ การที่มิสซาเอกิขอให้นาคาตะเผาบันทึกความทรงจำที่เธอเขียนตลอดกว่าสามสิบปีที่ผ่านมาทิ้งเหมือนกับตอนที่ฟรันซ์ คาฟกาขอร้องให้เพื่อนสนิทช่วยเผางานเขียนของเขาทิ้ง และเนื้อเรื่องของ The Miner นิยายของนัทสึเมะ โซเซกิ ที่เป็นหัวข้อการสนทนาระหว่างโอชิมะและคาฟก้าในด้านวิธีการเล่าเรื่องที่ไม่มีเอกภาพและตอนจบไม่คลี่คลาย ซึ่งเป็นเรื่องเดียวของนักประพันธ์ผู้นี้ที่ตอนจบไม่คลายปม และตัวเอกก็เหมือนกับคาฟกามาก (แต่เป็นคาฟกามากกว่า ที่ไปเหมือนกับพระเอก The Miner) เมื่อเราอ่านจนจบจึงจะเข้าใจว่าชะตาของพระเอกทั้งสองเรื่องนี้เหมือนกันแท้ๆ เหตุการณ์หลายๆเหตุการณ์ใน Kafka on the Shore ถูกยืมมาจากเรื่องอื่นๆ และหลายเหตุการณ์ถูกยืมมาจากเรื่องจริงเพื่อใช้ในการดำเนินเรื่อง เราจะเห็นได้ว่านวนิยายเรื่องนี้เป็นการปะติดปะต่อกันของหลายๆอย่างมากมายและได้ทำให้เกิดความแปลกใหม่



ลักษณะอีกอย่างที่น่าสังเกตคือการดำเนินเรื่อง นวนิยายเรื่องนี้มิได้ดำเนินเรื่องตามแบบดั้งเดิมหรือ Freytag’s Triangle นวนิยายเรื่องนี้ไม่มีเอกภาพ มันไม่มีตอนต้น ตอนกลางและตอนจบที่สมบูรณ์ กล่าวคือนวนิยายเรื่องนี้มีปมปัญหาขัดแย้ง(หลายปม) ซึ่งจะนำไปสู่จุดไคล์แมกซ์ (ที่ไม่ได้มีแค่จุดเดียว) แล้วนำไปสู่ตอนจบของหนังสือ แต่ไม่ใช่ตอนจบของเรื่อง มีลักษณะเป็น Fragmentation หรือเป็นการแตกแยกออกเป็นชิ้นส่วน ลักษณะที่ไม่มีเอกภาพของตัวบทสอดคล้องกับการปฏิเสธ Grand Narrative ของการเขียนวรรณกรรมที่ว่าวรรณกรรมที่ดีชิ้นหนึ่งต้องมีเอกภาพและเป็นไปตามโครงสร้าง Freytag’s Triangle และเรื่องใดก็ตามที่ไม่ดำเนินไปตามนั้นถือเป็นข้อบกพร่องของการเขียน การขาดเอกภาพของ Kafka on the Shore ไม่ได้ลดทอนความสนุกลงไปเลย แต่กลับสร้างความลึกลับตื่นเต้นในนวนิยายเรื่องนี้อีกด้วย

อีกลักษณะสำคัญในความเป็นโพสต์โมเดิร์นของ Kafka on the Shore คือความเป็น Magical Realism หรือสัจนิยมมหัศจรรย์ สัจนิยมมหัศจรรย์เป็นรูปแบบการเขียนวรรณกรรมที่เป็นที่นิยมในวรรณกรรมโพสต์โมเดิร์น ในเรื่องนี้มีความเป็นสัจนิยมมหัศจรรย์หลายเหตุการณ์ อย่างเช่น การที่มีฝนปลาซาร์ดีน ปลาแมคเคอเรลและปลิงตกลงมาจากท้องฟ้าเหมือนฝนธรรมดา การที่ตัวตนไร้จิตที่แปลงกายมาอยู่ในรูปของผู้การแซนเดอร์สแห่ง KFC การที่จิตวิญญาณวัยสิบห้าของตัวละครที่อายุย่างห้าสิบตัวที่ชื่อ มิสซาเอกิออกมาเดินเพ่นพ่านอยู่บ่อยๆราวกับว่าเป็นคนธรรมดา หรือการที่ทหารญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่สองหายไประหว่างการซ้อมรบและป่านนี้ก็ยังคงอยู่ในป่าเพื่อเฝ้าประตูเชื่อมสองโลก แถมยังไม่แก่ลงเลยสักนิด วรรณกรรมสัจนิยมมหัศจรรย์มักเสนอปัญหาของคนชายขอบหรือความเป็นอื่นที่แตกต่างจากสังคม และเสียดสีสังคมไปด้วย นอกจากนั้นความกำกวมก็เป็นอีกหนึ่งลักษณะสำคัญของวรรณกรรมสัจนิยมมหัศจรรย์ สัจนิยมมหัศจรรย์นั้นเป็นรูปแบบการเขียนที่นิยมมากในสมัยนี้ ลักษณะหลายๆอย่างที่เป็นตัวบ่งชี้ถึงวรรณกรรมแบบสัจนิยมมหัศจรรย์ ก็เป็นลักษณะที่บ่งชี้ถึงความเป็นวรรณกรรมแบบโพสต์โมเดิร์นด้วย กล่าวคือวรรณกรรมสัจนิยมมหัศจรรย์เป็นส่วนหนึ่งของวรรณกรรมโพสต์โมเดิร์น ต่างกันตรงที่จะเน้นเรื่องของสิ่งที่ดูเหมือนเหนือธรรมชาติแต่ถูกทำให้เป็นเรื่องธรรมดา
ในด้านตัวละคร Kafka on the Shore นำเสนอตัวละครที่เป็นคนชายขอบอย่างนาคาตะและโอชิมะ ตรงนี้มูราคามิให้สัมภาษณ์ว่าเขาสนใจคนที่ถูกมองว่าเป็น “คนนอก” จากสังคมอยู่เสมอและยังบอกอีกด้วยว่าแทบจะทุกตัวละครใน Kafka on the Shore เป็นคนนอกไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง นาคาตะที่อ่านหนังสือไม่ออก เขียนก็ไม่ได้ถูกคนมองว่าเป็นคนชายขอบ ไม่ว่าเวลาบอกกับใครว่าอ่านหนังสือไม่ออก ผู้คนจะแสดงอาการประหลาดใจแบบสุดๆ พ่อแม่พี่น้องก็เลิกสนใจนาคาตะตั้งแต่ที่รู้ว่าเขามีปัญหาเรื่องนี้ นาคาตะไม่ถึงขั้นกับเป็นที่รังเกียจของสังคม เพียงแต่ไม่มีใครคบค้าสมาคมด้วยเพราะเมื่อรู้ว่าเขามีปัญหาทางสมองก็ถูกตั้งแง่และเมินเฉย เรื่องนี้แสดงให้เราเห็นว่าคนแบบนาคาตะนั้นน่าคบกว่าคนฉลาดเจ้าเล่ห์เป็นไหนๆ เพราะในเรื่องเราจะเห็นว่าผู้คนที่ได้บังเอิญพบนาคาตะและมีโอกาสได้พูดคุยกับเขา ต่างก็รู้สึกชื่นชมในตัวผู้เฒ่าคนนี้ว่าเป็นคนน่ารักน่าคบ ถึงขนาดว่าคนขับรถบรรทุกอย่างโฮชิโนะถึงกับยอมหนีงานและสาบานจะติดตามนาคาตะไปชั่วชีวิต (แม้จะรู้ว่าชีวิตของนาคาตะไม่ค่อยจะมีอนาคตนัก) ตัวละครอีกตัวอย่างโอชิมะที่มีความเป็นโพสต์โมเดิร์นแบบสุดๆ เพราะเขา(หรือเธอ)เป็นคนสองเพศ หญิงก็ไม่ใช่ ชายก็ไม่เชิงเพราะเขามีอวัยวะเพศหญิง แต่ไม่มีประจำเดือนและไม่มีหน้าอก ส่วนรสนิยมทางเพศนั้นโอชิมะเป็น“เกย์” (แบบชายรักชาย) เพราะเสพสังวาสทางทวารหนัก โพสต์โมเดิร์นเห็นว่าเพศสภาพนั้นเป็นวาทกรรมอย่างหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นโดยสังคม ความเป็นชาย หญิงหรือเกย์นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่ทางชีวภาพอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม จะเห็นได้จากการที่เด็กทารกเกิดมามีอวัยวะเพศหญิง แต่ถ้าถูกเลี้ยงแบบเป็นเด็กชาย ก็จะโตมาเป็นชาย โอชิมะเองนั้นแม้ว่าจะมีอวัยวะเพศหญิง แต่ก็เลือกเป็นชายเพราะใจอยากจะเป็น แต่เขาก็ต้องพบเจอกับปัญหาการรังเกียจกีดกันหายอย่างจากคนในสังคมที่เห็นว่าเขาเป็นตัวประหลาด

การเขียนแบบเสียดสีเพื่อโจมตีสังคมโลกสมัยนี้ โดยเฉพาะสังคมญี่ปุ่นว่าเป็นสังคมแบบวัตถุนิยมและบริโภคนิยม เพราะมีตัวละครอย่าง Johnnie Walker และ Colonel Sanders ไปโลดแล่นอยู่ในเรื่อง แถมยังได้บทเด่นเสียด้วย Johnnie Walker รับบทเป็นชายโรคจิตที่จับตัวแมวมาตัดหัวเพื่อสร้างขลุ่ยวิเศษ ส่วน Colonel Sanders รับบทเป็นแมงดาเชียร์แขกให้โสเภณีสาวที่เรียนเอกปรัชญาแทนที่จะไปยืนขายไก่ในย่านการค้า ตัว Johnnie Walker เราไม่อาจทราบได้แน่ชัดว่ามันมีความหมายอะไรซ่อนอยู่ในการที่มันถูกใช้เป็นตัวละคร เพราะในนวนิยายไม่ได้บอกอะไรไว้มากเกี่ยวกับตัวละครตัวนี้ แต่ที่แน่ๆก็คือมันเป็นการเสียดสีบริโภคนิยม ที่ไม่ว่าสินค้าอะไรก็ตาม แบรนด์สำคัญที่สุด สำหรับตัว Colonel Sanders นั้นเขาได้บอกกับโฮชิโนะเองว่าตัวเขาคือตัวตนไร้จิตที่เลือกจะเป็นรูปทรงอะไรก็ได้ เพียงแต่ภารกิจนี้เขาเลือกที่จะเป็นคนดังในฐานะนายทุน เคยคิดจะใช้มิกกี้ เม้าส์แต่ดิสนี่ย์ค่อนข้างจู้จี้เรื่องลิขสิทธิ์ ดูกันตามจริงแล้วในตัวเมืองของแต่ละจังหวัดของญี่ปุ่นจะสามารถมองเห็นผู้การหนวดขาวได้แทบจะทุกมุม นอกจากการโจมตีสังคมญี่ปุ่น ประเด็นนี้ยังเหมือนเป็นการโจมตีสังคมโลกอีกด้วย เพราะการบริโภคในสมัยโพสต์โมเดิร์นไม่ใช่แค่การบริโภคแค่วัตถุเท่านั้น แต่เป็นการบริโภคสัญญะอีกด้วย เพราะอย่าง KFC บางคนไม่ได้กินแค่อิ่ม แต่เป็นการกินเพื่อสื่อความหมายบางอย่างเช่น สื่อความเป็นตัวตน นี่จึงเป็นการเสียดสีที่ก็สอดแทรกมุขตลกเพื่อไม่ให้ซีเรียสเกินไป

ความกำกวมถือเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งในนวนิยายสักเรื่องถ้าเรามองแบบโพสต์โมเดิร์น Kafka on the Shore มีความกำกวมในตัวบทอย่างมาก แม้ในตอนจบก็ทิ้งปริศนาที่ไม่ได้แก้ไว้มากมาย แล้วจบแบบไม่มีบทสรุปที่แน่นอนและเป็นการจบแบบเปิด การจะตีความเรื่องอย่างไรขึ้นอยู่กับผู้อ่าน สำหรับโพสต์โมเดิร์นทุกอย่างคืนพื้นที่ว่างให้เราใส่ความคิดลงไป ตรงนี้มูราคามิก็เห็นตรงกัน เพราะจากงานแจกลายเซ็นต์ครึ่งหนึ่งที่อเมริกามีแฟนคนหนึ่งถามถึงความหมายของภูเขาไฟใต้มหาสมุทรจากเรื่อง The Second Bakery Attackว่ามันต้องการสื่ออะไร มูราคามิที่วุ่นอยู่กับการเซ็นต์หนังสือกองโตเงยหน้าขึ้นตอบอย่างสุภาพว่า “ไม่มีหรอกครับ มันไม่ได้แสดงถึงอะไรเลย มันเป็นได้ทุกอย่างที่คุณอยากให้มันเป็น .. แล้วแต่คุณก็แล้วกัน” และในการสัมภาษณ์เกี่ยวกับหนังสือเรื่อง Kafka on the Shore มูราคามิบอกว่าการแก้ปริศนาในเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับผู้อ่านแต่ละคน ดังนั้นสำหรับผู้อ่านอย่างเราๆจะคิดว่า Johnnie Walker เป็นเพียงจินตนาการของนาคาตะเองหรือว่ามีชายวัยกลางคน (เป็นไปได้ว่านี่คือพ่อของคาฟกาที่โดนฆาตกรรม) ที่ชอบแต่งคอสเพลย์แล้วฆ่าแมวจริงๆ ก็คงสุดแท้แต่จินตนาการจะพาไป และนี่ก็สอดคล้องกับความคิดของบาร์ตส์ในเรื่อง อวสานของผู้แต่ง ว่าผู้แต่งไม่มีอำนาจต่อความหมายของตัวบทอีกต่อไป หมดยุคของผู้แต่งแล้ว ความหมายของตัวบทจึงขึ้นอยู่กับผู้อ่านเท่านั้น ตัวบทจึงมีความลื่นไหนอยู่ตลอดเวลา ผู้อ่านมีหน้าที่สำคัญในการให้ความหมาย แม้เราจะไม่สามารถแยก Kafka on the Shore ออกจากมูราคามิได้ แต่อย่างน้อยเราก็เห็นได้ว่าในจุดนี้มูราคามิก็มีความเห็นตรงกับบาร์ตส์ว่าผู้อ่านสำคัญที่สุด (เพราะไม่ว่าจะผู้แต่ง พระเอก หรือพระเจ้าต่างก็ “ตายแล้ว” กันหมด ในมุมมองของโพสต์โมเดิร์น)

ลักษณะต่อมาที่บ่งชี้ความเป็นโพสต์โมเดิร์นของ Kafka on the Shore คือการทำให้เส้นแบ่งระหว่างสิ่งต่างๆพร่าเลือน นอกเหนือจากเส้นแบ่งประเภทวรรณกรรมที่พร่าเลือนในเรื่องนี้แล้ว ยังมีเส้นแบ่งที่พร่าเลือนที่ทำให้ตัวละครอย่างคาฟกา แยกความจริงกับจิตใต้สำนึกตัวเองไม่ออก ในหนังสือกล่าวถึงตำนานของฮิคารุ เก็นจิ (The Tales of Hikaru Genji) ซึ่งนับว่าเป็นวรรณกรรมอันทรงคุณค่าที่สุดของญี่ปุ่น ว่ามีการที่ตอนหลับจิตใต้สำนึกกลายสภาพเป็นวิญญาณที่มีชีวิตและไปทำร้ายคนที่ตนเกลียดมากโดยเมื่อตนตื่นมาก็ไม่รู้ตัว โอชิมะเล่าตำนานเรื่องนี้ให้คาฟกาฟัง เพราะคาฟกาถามถึงวิญญาณที่มีชีวิต (เพราะเขาเห็นวิญญาณวัยสิบห้า ของมิสซาเอกิผู้มีอายุห้าสิบ) เรื่องนี้ถูกเล่าให้เป็นเรื่องคู่ขนานกับเรื่องของคาฟกา ที่เขาคิดว่าเขาอาจจะเป็นฆาตกรฆ่าพ่อของเขาจริงๆก็ได้ เพราะในช่วงเวลาที่พ่อของเขาถูกฆาตรกรรมโดยประมาณ เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เขาหมดสติไปแล้วตื่นมาพบตัวเองนอนอยู่ที่ศาลเจ้าโดยเสื้อเปื้อนเลือดไปหมด แต่เลือดนั้นมิใช่ของเขา เมื่อได้ฟังเรื่องราวเขาจึงมีความคิดว่าเป็นไปได้ไหมที่เขาเป็นคนฆ่าพ่อจริงๆ เส้นแบ่งระหว่างความจริงและความฝันที่แสนบางก็มีให้เห็นในเรื่องนี้ มีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่แสดงผ่านตัวละครอย่างฮางิตะ ซึ่งเป็นคนขับรถบรรทุก เขาพูดว่า “การเชื่อมโยงก็เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน ใครจะเป็นนายทุน ใครเป็นกรรมาชน ใครเอียงซ้าย ใครขวาตกขอบ การปฏิวัติข้อมูลข่าวสาร ออปชั่น ซื้อหุ้น สินทรัพย์ลอยตัว การปรับโครงสร้างองค์กรอาชีพ บรรษัทข้ามชาติ อะไรดี อะไรเลว เส้นแบ่งกลางระหว่างสองฟาก เลือนหายไปหมดสิ้นแล้ว” นี่อาจจะไม่ใช่แค่คำพูดของตัวละครตัวหนึ่งในนวนิยายเรื่องหนึ่ง แต่เป็นความคิดของมูราคามิที่ส่งผ่านตัวละครของเขา สำหรับโพสต์โมเดิร์นแล้วโลกนี้ไม่ได้มีแค่ขาวและดำ แต่โลกนี้เป็นส่วนผสมของหลายๆสี

งานของมูราคามิหลายชิ้นที่โจมตีสังคมญี่ปุ่น รวมทั้งชิ้นนี้ด้วย เรียกได้ว่าเป็นการโจมตีวาทกรรมอย่างหนึ่งของสังคม เพราะสังคมญี่ปุ่นมุ่งเน้นไปที่การสร้างความสามัคคี ทำให้ละเลยความเป็นปัจเจกบุคคล ผู้คนจึงมีปัญหาวิกฤติเอกลักษณ์ ซึ่งพวกเขารู้สึกสับสนไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใคร ในเรื่องนี้คนที่มีวิกฤติเอกลักษณ์อย่างเด่นชัดคือคาฟกาและโอชิมะ ตั้งแต่เรื่องชื่อ เราไม่รู้เลยว่าจริงๆแล้วคาฟกาชื่ออะไร เรารู้จักเขาในนามคาฟกา และอีกตัวตนของเขาในชื่อ “เจ้าหนูชื่ออีกา” (คำว่าคาฟกาในภาษาเช็ก หมายถึง อีกา) มีความคิดหนึ่งที่เกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่เรียกว่า การตายของพระเอก (Death of the subject) ซึ่งพระเอกในที่นี้ในอดีตเคยเป็นพระเอกที่เป็นศูนย์กลางของทุกอย่างรวมทั้งตัวเองด้วย พระเอกสมัยโพสต์โมเดิร์นจึงมีชะตากรรมเหมือนกับอะไรหลายๆอย่างในโพสต์โมเดิร์นคือไม่มีศูนย์กลาง ไม่มีความเป็นหนึ่งเดียวของบุคลิกภาพหรือตัวตน สุดท้ายแล้วจึงสูญเสียเสรีภาพที่จะทำการต่างๆของอัตตา คาฟกาเป็นพระเอกประเภทนี้ เราจะเห็นได้ว่าคาฟกาหนีออกจากบ้าน พอพ่อถูกฆ่าก็ถูกตามหาตัวโดยที่เจ้าตัวไม่อยากถูกพบ จึงต้องหนีไปอยู่ในที่ๆไม่มีแม้แต่น้ำหรือไฟ ตัวเขาวิ่งหนีจากชะตากรรม(คำสาป) ไปเจอชะตากรรม ไม่มีทางหนีเพราะชะตากรรมเป็นเหมือนพายุทรายที่เปลี่ยนทิศทางไปตามเราตามที่ “เจ้าหนูชื่ออีกา” ได้กล่าวไว้ สิ่งที่ทำได้คือหลับตาแล้วเดินเข้าหาพายุทราย นอกจากคาฟกา โอชิมะเป็นอีกคนที่มีปัญหาทางเอกลักษณ์ เขาเคยถามตัวเองว่า เขาเป็น “ตัวอะไร“ กันแน่ หรือแม้แต่นาคาตะที่แม้ว่าจะมีปัญหาทางสมอง แต่กลับมีอิสระทางความคิด ไม่ถูกจำกัดในกรอบที่สังคมสร้างขึ้นเพราะเขาไม่เข้าใจกรอบนั้น แต่นาคาตะก็มีคำถามแห่งการดำรงอยู่เช่นกัน เขาสงสัยว่าเขาคือใคร ทำไมถึงได้รู้สึกเหมือนเป็นภาชนะกลวงเปล่าอย่างนี้ แต่โฮชิโนะตอบว่ามองดูรอบๆคนเราทุกคนต่างก็เป็นภาชนะกลวงเปล่ากันทั้งนั้น แต่ในตอนจบที่นาคาตะตายแล้วซากศพกายเป็นภาชนะกลวงเป่าสำหรับสัตว์ประหลาดจริงๆ ทำเอาคนอ่านถึงกับหัวเราะไม่ออก ปัญหาเอกลักษณ์นี้เกิดขึ้นมากในกลุ่มวัยรุ่นไม่เฉพาะแต่ในญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ทั่วโลก ในความเห็นของมูราคามิ เขาคิดว่าที่คนหนุ่มสาวชอบอ่านงานของเขาเป็นเพราะสามารถเข้าถึงตัวละครได้ เพราะมีความคล้ายคลึงกัน วัยรุ่นต่างไม่ต้องการเป็นเหมือนกันคนอีกล้านๆคน แต่ต้องการเป็นตัวของตัวเอง แต่นั่นทำให้พวกเขาถูกมองว่าเป็นพวกแปลกแยก ผลก็คือความโดดเดี่ยวที่กัดกินอยู่ข้างใน ทำให้ผู้อ่านเหล่านี้เข้าใจจิตใจตัวละครได้เป็นอย่างดี สังคมญี่ปุ่นแบบสามัคคีและชาตินิยมมากเกินจึงเป็นสังคมที่ผลักไสคนที่ไม่เข้าพวกออกจากกลุ่ม

ในอดีตมีการแบ่งแยก High Culture และ Low Culture ทั้งนี้เพื่อกำหนดคุณค่าและโดยมากมักเป็นการเพิ่มคุณค่าให้สิ่งที่อย่ในกลุ่ม High Culture การผสมผสานกันระหว่าง High Culture และ Low Culture ใน Kafka on the Shore ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านตัวละครอย่างโฮชิโนะ คนขับรถบรรทุกที่ถูกบรรยายไว้ออกมาเหมือนภาพของสิงห์รถสิบล้อผู้ห้าวหาญ ระหว่างการเดินทางกับผู้เฒ่านาคาตะ เขาตัดสินใจเข้าโรงภาพยนตร์แห่งหนึ่งโดยไม่สนว่าโรงจะฉายเรื่องอะไร ปรากฏว่าเป็นภาพยนตร์สองเรื่องควบของผู้กำกับ ฟรองซัวร์ ทรุฟโฟต์ (Francois Truffaut) คือเรื่อง The 400 Blows และ Shoot the Pianist4 ซึ่งเป็นผลงานยุคแรกของทรุฟโฟต์ที่ได้ชื่อว่าล้ำเลิศ แน่นอนว่าใครๆก็คงจะคิดว่ามันต้องล้ำเลิศเกินสติปัญญาโฮชิโนะแน่ๆ แต่เขาก็รู้สึกชอบอารมณ์ของเรื่อง บรรยากาศโดยรวมและการตีแผ่ความในใจของตัวละคร ต่อมาเขาเข้าไปในร้านกาแฟที่เจ้าของร้านเปิดแต่เพลงคลาสสิก เขาได้รู้จักกับบทเพลงที่ประพันธ์โดยโมสาร์ท (Mozart) และไฮเดิน (Haydn) และได้เปรียบเทียบว่าดนตรีของไฮเดินให้ความรู้สึกเหมือนได้ดูหนังของทรุฟโฟต์ ซึ่งเจ้าของร้านกาแฟคอเพลงคลาสสิกเห็นด้วยอย่างพึงพอใจ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ของทรุฟโฟต์ ดนตรีของโมสาร์ทและไฮเดิน หรือเจ้าของร้านกาแฟ ถือเป็นตัวแทนของ High Culture และโฮชิโนะเป็นตัวแทนของ Low Culture ตอนนี้แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่เราเรียกกันว่า High Cultureไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ปัญญาชนเท่านั้น เพราะการรับรู้ชื่นชมศิลปะไม่ได้ขึ้นอยู่กับสติปัญญา แต่ขึ้นอยู่กับสุททรียภาพของแต่ละบุคคล

ประการสุดท้าย Kafka on the Shore เสนอความไร้พรมแดนของโลกนี้ โดยการอ้างอิงถึงวัฒนธรรมตะวันตกทั้งด้านวรรณกรรม ปรัชญา ศิลปะและดนตรี ตรงนี้เห็นได้เยอะในงานของมูราคามิทุกชิ้น เพราะตัวละครของเขามักเป็นพวกได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมตะวันตก ตรงนี้มูราคามิชี้ว่ามันเป็นการไม่ถือสัญชาติและพรมแดน อิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตกเหล่านี้เป็นเครื่องแสดงถึงอิทธิพลที่สามารถแทรกซึมเข้าไปถึงปราการที่แข็งแกร่ของญี่ปุ่นได้ ถือว่าเป็นความไร้พรมแดน นอกจากนี้ประเด็นเรื่องข้อมูลข่าวสารที่สามารถหาได้บนอินเตอร์เนท ทั้งแบบฟรีและเสียเงิน โอชิมะเป็นข้อพิสูจน์เรื่องนี้ เพราะเขาเป็นคนที่ฉลาดรอบรู้ที่สุดในเรื่อง เป็นเหมือนสารานุกรมเดินได้ แต่เจ้าตัวไม่เคยออกจากเกาะชิโกกุเลย เพราะเขาเป็นโรคฮีโมฟีเลีย เขาจ่ายเงินให้โรงพยาบาลประจำเพื่อให้เก็บเลือดสะอาดไว้ให้เขาในยามฉุกเฉิน เขาพยายามที่จะไม่ให้ได้รับบาดเจ็บเลยตัดสินใจจะไม่เดินทางไปไหนไกลๆ อีกอย่างคือตอนที่คาฟกาอยากได้โน้ตเพลง Kafka on the Shore ก็สามารถซื้อออนไลน์ได้ หรือแม้แต่ตอนที่คาฟกาถูกตามตัวโดยตำรวจ โอชิมะก็สามารถเข้าไปเอาข้อมูลของตำรวจมาได้ แสดงให้เห็นว่านี่เป็นยุคแห่งข้อมูลข่าวสารจริงๆ

ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมาข้างต้นนี้เป็นลักษณะที่บ่งชี้ว่า Kafka on the Shore มีความเป็นโพสต์โมเดิร์นอย่างไร ไม่เพียงแต่วิธีการเขียนเท่านั้นแต่ความคิดก็แสดงถึงความเป็นโพสต์โมเดิร์นในด้านที่มีการนำเอาความรู้หลายๆด้านมาใส่ในผลงาน แม้ผู้แต่งจะปฏิเสธว่าเขาไม่ได้เป็นนักเขียนโพสต์โมเดิร์น แต่สิ่งที่เขาเขียนกลับสามารถแสดงถึงความเป็นโพสต์โมเดิร์นได้เป็นอย่างดี เป้าหมายในการศึกษาครั้งนี้จึงได้บรรลุผลตามที่คาดไว้ สรุปได้ว่านวนิยายเรื่องนี้จัดเป็นวรรณกรรมโพสต์โมเดิร์นได้ทั้งด้านเนื้อหาและวิธีการเขียน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น