รายการอัพเดท

หนังสือดีน่าสะสม ของคนรักหนังสือ มีแล้วที่นี่ http://www.thaibook.net/

วันจันทร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ซีเบ๊จี่อิง


ซีเบ๊จี่อิง เป็นนักเขียนนามโรจน์ของไต้หวัน จัดเป็นหนึ่งในสามนักเขียนรุ่นใหม่ของไต้หวัน  มีความเป็นมาและผลงานการเขียนพอสรุปได้ดังนี้

ซีเบ๊จี่อิง (ซีเบ๊เป็นแซ่สองตัว จี่อิงแปลว่าควันม่วง) มีชื่อจริงว่า เตียโจ้วท้วง เป็นชาวมณฑลอานฮุย สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยซือต้าและต้าเจียง คณะอักษรศาสตร์ ระหว่างที่อยู่ในช่วงการศึกษา ก็เริ่มหัดเขียนนิยาย ผลงานที่อยู่ในความทรงจำที่สุด เป็นนิยายชีวิตที่มีความยาวประมาณสองหมื่นกว่าตัว ตั้งชื่อว่า โคมเขียว นำลงในหนังสือพิมพ์หมิงจู๋หวั่นเป้า ฉบับบ่าย เขียนถึงชีวิตของนางโลมอายุเยาว์ และอันธพาลในท้องที่ แจกแจงธาตุแท้ใจคอของผู้คนอย่างลึกซึ้ง ได้รับคำชมจากอาจารย์ของเขา ซึ่งปัจจุบันเป็นนักเขียนหญิงนามเจี่ยเปียเอี้ยงอย่างมาก

หลังจากจบการศึกษา ซีเบ๊จี่อิงได้เข้ารับการเกณฑ์ทหาร ประจำอยู่หน่วยวิทยุสื่อสาร ระหว่างนั้น อ้อเล้งเซ็ง และ จูกัวะแชฮุ้น ล้วนแล้วแต่มีชื่อเสียงกระเดื่องดัง นิยายกำลังภายในเป็นที่ต้องการของหนังสือพิมพ์และสำนักพิมพ์ต่างๆ ซีเบ๊จี่อิงก็เริ่มจับปากกาเขียนนิยายกำลังภายในดูบ้าง โดยใช้นามปากกาซีเบ๊จี่อิง ซึ่งตีคู่กับจูกัวะแชฮุ้น กล่าวคือซีเบ๊กับจูกัวะเป็นแซ่สองตัว จี่อิงแปลว่าควันม่วง พอดีคู่กับแชฮุ้นซึ่งแปลว่าเมฆเขียว 

ผลงานเรื่องแรกของซีเบ๊จี่อิงคือ กังโอ้วแม้โหวจับนี้เต็ง ซึ่งสถานีโทรทัศน์ไต้หวันเพิ่งดัดแปลงสร้างเป็นภาพยนตร์ทีวี เมืองไทยก็มีวีดีโอเทปตั้งชื่อว่า ศึกชุมนุมเจ้ายุทธจักร เรื่องนี้ได้รับการกล่าวขวัญถึงไม่น้อย จึงตกลงเขียน กังโอ้วแม้โหวจับนี้เต็ง ภาค 2 ต่อด้วยเรื่อง แป๊ะเท้างิ้ม (ผมขาวรำพัน) รวมเป็นหนังสือปกอ่อนถึง 77 เล่ม นับเป็นเรื่องยาวอันดับสองรองจากอ้อเล้งเซ็ง ซึ่งเขียนเรื่องกิมเกี่ยมเตียวเล้ง (กระบี่ป้องปฐพี) มีความยาว 96 เล่ม

นอกจากนั้น ซีเบ๊จี่อิงยังมีผลงานดีเด่นอีกมากมาย นำความแปลกใหม่มาสู่วงการนิยายกำลังภายใน อาทิเช่นเรื่องโชยชิ่วบ๊วยฮวยเจ่กเกี่ยมฮั้ง (นักสู้สะท้านภพ) บ้วนลี้กังซัวเจ่กโกวเคี้ย (มารผยอง) กิมป๊กโกว (เกาทัณฑ์สยบฟ้า) เป็นต้น ท่านที่เคยอ่านผลงานของท่านผู้นี้มาบ้างคงทราบดี

ระหว่างที่ซีเบ๊จี่อิงทำงานในกรมสื่อสารทหาร ต้องอยู่ท่ามกลางอากาศร้อนอบอ้าวที่ผู้คนทั่วไปแทบทนทานไม่ได้ แต่เขายังสามารถนั่งเค้นสมองเขียนนิยายกำลังภายใน ถือเป็นความสามารถที่เหลือเชื่อประการหนึ่ง

ซีเบ๊จี่อิงยังมีความสามารถพิเศษอีกประการหนึ่งคือนั่งทน เขาให้สัมภาษณ์ว่าเมื่อจับปากกาเขียนหนังสือจะหยุดไม่ได้ ต่อให้เหน็ดเหนื่อยสาหัสเพียงไหนยังต้องเขียนต่อไป พอหยุดมือเมื่อใดจะไม่อยากเขียนอีก เขาเคยทำสถิตินั่งทนเป็นเวลายี่สิบชั่วโมง ในยี่สิบชั่วโมงนี้ไม่ลุกจากเก้าอี้ มือไม่ห่างจากปากกา ใช้มือซ้ายยกถ้วยชาหยิบจับอาหารแทน

ซีเบ๊จี่อิงแม้ทำงานนั่งทน แต่นิสัยกลับชอบเคลื่อนไหว ระหว่างเล่าเรียนหนังสือเป็นนักกีฬาตัวยง ชอบทั้งฟุตบอล บาสเกตบอล และวอลเลย์บอล นอกจากนั้นยังโปรดปรานสุรา เพียงแต่ไม่พิถีพิถันการดื่มเช่นโก้วเล้ง ไม่ว่าเหล้าอะไรก็ได้ แต่ขณะที่ดื่มเหล้ามีโรคแปลกอย่างหนึ่ง คือชอบหลั่งเหงื่อตลอดเวลา ดังนั้นความสามารถในการดื่มจัดอยู่ในขั้นคอทองแดงคนหนึ่ง

คนไม่อาจวัดคำนวณด้วยรูปโฉม หน้าตาของซีเบ๊จี่อิงราบเรียบธรรมดา แต่มันสมองและปัญญาความคิดของเขายากที่จะมีคนเสมอเหมือน เขาสามารถเขียนนิยายกำลังภายใน เขียนนิยายชีวิต เขียนอาชญนิยาย เขียนนิยายกังฟู เขียนนิยายอิงประวัติศาสตร์ กล่าวได้ว่าเขียนได้แทบทุกแนว

เขาเคยเขียนนิยายกังฟูให้กับหนังสือพิมพ์ยูไนเต็ด โดยใช้นามปากกา จูเอี้ยง เขียนนิยายเกร็ดประวัติศาสตร์ให้กับหนังสือพิมพ์ต้าหัวหวั่นเป้า ด้วยเรื่องจี่เง็กเทย โดยใช้นามปากกาซีเบ๊ ซึ่งสร้างชื่อให้กับเขาเช่นกัน ใช้เวลานำลงในหนังสือพิมพ์ถึงสี่ปี ระหว่างนี้ยังเขียนบทความเรื่องแก่นแท้เพลงมวยไท้เก๊ก นำลงในหนังสือพิมพ์สากลที่ตีพิมพ์ในสหรัฐอเมริกา โดยใช้นามปากกา จี่โซ่ว (เฒ่าม่วง) ใช้หลักวิทยาศาสตร์แยกแยะความลึกซึ้งไพศาลของเพลงมวยไท้เก๊ก อธิบายเคล็ดความกระบวนท่าต่างๆโดยละเอียด ตลอดจนเคล็ดลับของการใช้พลังอย่างไร สร้างความสั่นสะเทือนแก่วงการหมัดมวยแถบโพ้นทะเล และเพื่อนร่วมชาติที่ฝึกเพลงมวยไท้เก๊กไม่น้อย ดังนั้นซีเบ๊จี่อิงสมควรรับคำ “ปัญญาลึกล้ำดั่งห้วงสมุทร” ได้อย่างแท้จริง


ใน คำโปรยเรื่อง กระบี่เหนือกระบี่ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 โดย น. นพรัตน์


ผลงานที่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทย


1. กระบี่เหนือกระบี่ . นพรัตน์ เรื่องเดียวกับ  บัลลังก์ทอง จำลอง พิศนาคะ
จำนวนเล่มจบ : 4 เล่มจบ - สยามสปอร์ตพับลิชชิ่ง - อ้างอิงพิมพ์ปี พ.ศ. 2528
จำนวนเล่มจบ : 3 เล่มจบ - วิถีบูรพา - อ้างอิงพิมพ์ปี พ.ศ. 2553
ข้อมูลเพิ่มเติม : เรื่องเดียวกับ บัลลังก์ทอง (จำลอง พิศนาคะ)
เนื้อเรื่องย่อ : ต้นกำเนิด ประสบการณ์ ตลอดจนชีวิตความรักที่ผิดแผกแตกต่างจากสามัญชนคนธรรมดา เพลงกระบี่ของบู๊ลิ้มตงง้วน ยอดวิชาของตระกูลเร้นลับ เพลงดาบซามูไรจากแดนอาทิตย์อุทัย ทุกวิทยายุทธล้วนละเอียดลึกล้ำ การหักเล่ห์ชิงเหลี่ยม ต่อสู้ด้วยไหวพริบและฝีมืออย่างน่าทึ่ง จากเหตุการณ์หนึ่ง สู่อีกเหตุการณ์หนึ่ง มรสุมลูกหนึ่งทะยอยไล่มรสุมอีกลูกหนึ่ง..... โดยเฉพาะ ตีแผ่ธาตุแท้จิตใจคน ความลึกซึ้งชั่วร้ายของมนุษยชาติอย่างถึงแก่น 



2. นักสู้สะท้านภพ . นพรัตน์ เรื่องเดียวกับ ฝ่ามือสังหาร . โชคสัมฤทธิ์   



นักสู้สะท้านภพ (โชยชิ่วบ๊วยฮวยเจ่กเกี่ยมฮั้ง)

ผู้แต่ง : ซี่เบ๊จี่อิง
ผู้แปล : . นพรัตน์
จำนวนเล่มจบ : 24 เล่มจบ - บรรณกิจ -อ้างอิงพิมพ์ปี พ.ศ. 2520
จำนวนเล่มจบ : 6 เล่มจบ - บรรณกิจ -อ้างอิงพิมพ์ปี พ.ศ. 2521
จำนวนเล่มจบ : 5 เล่มจบ - สยามสปอร์ตพริ้นติ้ง - อ้างอิงพิมพ์ปี พ.ศ. 2537
3. กระบี่พิศวาส . นพรัตน์ 
4. มารกระบี่เดียว . นพรัตน์
5. เกาทัณฑ์สยบฟ้า. ณ เมืองลุง 
6. มารผยอง . เมืองลุง



มารผยอง (ป้วนลี้กังซัวเจ่กโกวเคี้ย)

ผู้แต่ง: ซี่เบ๊จี่อิง
ผู้แปล: . เมืองลุง

พิมพ์ครั้งที่ 1 สำนักพิมพ์เพลินจิตต์ เล่มบางจำนวน 22 เล่มจบ ปี พ.. 2509
พิมพ์ครั้งที่ 2 สำนักพิมพ์คลังวิทยา จำนวน 6 เล่มจบ ปี .. 2524

กวนซัวง้วยเป็นเจ้าของประกาศิตอูฐขาวรุ่นที่2 นัดประลองกับยอดฝีมือจากสำนัก ค่าย ป้อมต่างๆทั้งแผ่นดิน เนื่องจากเมื่อ 20 ปีก่อนอาจารย์ที่เป็นเจ้าของประกาศิตรุ่นที่ 1 ได้ตระเวนประลองเดิมพันเอาชนะทุกๆสำนักจนได้สัญลักษณ์ประจำของทุกสำนักมาเก็บรักษาไว้ แลัวนัดว่า 20 ปีให้หลังให้มาประลองกันใหม่ ทุกคนเลยขวนขวายฝึกฝีมือเพื่อจะชิงสัญลักษณ์ของสำนักตนเองคืน เป็นการเปิดเรื่องที่เยี่ยมยอดมากครับ

ต่อมาเป็นเรื่องของหุบเขาหนึ่งที่ดำเนินแผนจะครองบู๊ลิ้มและพระเอกต้องขัดขวาง ส่วนเนื้อเรื่องหลักเป็นการที่พระเอกไปสืบสาวความลับของชมรมทวยเทพซึ่งรวบรวมยอดฝีมือไว้มากมายและลึกลับสุดยอด และกลับเกี่ยวพันกับพระเอกอย่างแนบแน่นทำให้ต้องไปเกี่ยวข้อง ต่อมาพระเอกซึ่งเป็นกำพร้าที่อาจารย์เก็บมาเลี้ยงไปค้นพบชาติกำเนิดซึ่งซับซ้อนจนต้องสะสางบุญคุณความแค้นไปพร้อมๆกับการขัดขวางมารร้ายที่จะครองยุทธจักร ก็จบภาคแรกซึ่งก็ถือว่าสมบูรณ์ในตัว ผมพยายามเล่าแบบไม่ให้เสียอรรถรสการอ่าน พล็อตจริงๆน่าสนใจและมีจุดผกผันหลายจุดทีเดียว เป็นเรื่องยาวที่สนุกมากครับ เรื่องนี้ไม่เน้นการหักเหลี่ยมกันซับซ้อนเหมือนเรื่องอื่นๆของท่านซีเบ๊จี่อิง เสียดายที่ยังไม่มีภาคสองออกมา  

7. หิมะเดือนหก . เมืองลุง 



มารผยอง (ป้วนลี้กังซัวเจ่กโกวเคี้ย)

ผู้แต่ง : ซี่เบ๊จี่อิง ผู้แปล : ว. ณ เมืองลุง

จำนวนเล่มจบ : 22 เล่มจบ (เล่มเล็ก) - เพลินจิตต์ - อ้างอิงพิมพ์ปี พ.ศ. 2509
จำนวนเล่มจบ : 6 เล่มจบ - คลังวิทยา - อ้างอิงพิมพ์ปี พ.ศ. 2524

วันเสาร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2553

หนังสือดีเด่นปี 2553

     
      ผลการประกวดหนังสือดีเด่นปี 2553 จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ว่า ปีนี้มีสำนักพิมพ์ และหน่วยงานต่าง ๆ  93 แห่ง ส่งหนังสือเข้าประกวดหนังสือดีเด่น 13 ประเภท รวมจำนวนทั้งสิ้น 444 เรื่อง ซึ่งผลการตัดสินเป็น ดังนี้
      ประเภทหนังสือสารคดี มีหนังสือส่งเข้าประกวด 53 เรื่อง
      ไม่มีหนังสือเรื่องใดสมควรได้รับรางวัลดีเด่น 
      รางวัลชมเชย มี 3 รางวัล ได้แก่
    1. เครื่องกลไกคลาสสิค ของ อเนก นาวิกมูล,
    2. ชีวิตทนง อหังการ์ของหัวใจ ที่ร่างกายไม่อาจกักขังทะนง โคตรชมพู ของ ภานุมาศ ภูมิถาวร,
    3. ท่องแดนมังกร : Silk Road เส้นทางสายแพรไหมในซินเจียง ของ ปริวัฒน์ จันทร
          
      ประเภทหนังสือนวนิยาย ส่งประกวดทั้งหมด 37 เรื่อง
      ไม่มีหนังสือเรื่องใดสมควรได้รับรางวัล
      รางวัลชมเชย มี 3 รางวัล ได้แก่
    1. กุสาวดี แผ่นดินนี้ยังมีรัก ของ เรซิน ,
    2. จ้าวจตุรทิศ  ภาคสุริยคราส ของ รัณ ศยา,
    3. ในสวนเมฆ ของชมัยภร แสงกระจ่าง

      หนังสือกวีนิพนธ์ ส่งประกวดทั้งหมด 10 เรื่อง
      ไม่มีหนังสือเรื่องใดสมควรได้รับรางวัล
      รางวัลชมเชย มี 3รางวัล ได้แก่
    1. บทเพลงของการโบกบิน ของ ชัยพร ศรีโบราณ,
    2. พงศาวดารพิภพ ของ ธีรภัทร เจริญสุข ,
    3. หนทางและที่พักพิง ของ อังคาร จันทาทิพย์ 

      หนังสือรวมเรื่องสั้น ส่งประกวดทั้งหมด 11 เรื่อง
      รางวัลดีเด่น ได้แก่
      1 CM ของ โอสธี
      รางวัลชมเชย มี 2รางวัล ได้แก่  
    1. นักประดิษฐ์ ทุกคนเป็นสิ่งประดิษฐ์ ของ ภูฉาน พันฉาย ,
    2. พ่อเป็นหมอ ของ ธาดา เกิดมงคล


      หนังสือสำหรับเด็กเล็กอายุ3-5  ปี ส่งประกวดทั้งหมด 92 เรื่อง
      รางวัลดีเด่น ได้แก่
      ตุ๊กแกกั๊บแจกลาย  ของ คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์
      รางวัลชมเชย มี 3 รางวัล ได้แก่  
    1. ป่าเปลี่ยนสี ของ ปรีดา ปัญญาจันทร์
    2. มามะท้าตั้งไข่  ของ เอื้อพร สัมมาทิพย์ และคณะ ,
    3. สี่เกลอพิสดาร ของ ชีวัน วิสาสะ


      หนังสือบันเทิงคดี สำหรับเด็ก อายุ 6-11 ปี ส่งประกวด 28 เรื่อง
      รางวัลดีเด่น ได้แก่
      ชมพู่วันเพ็ญ ของ ดำรงศักดิ์ บุญสู่
      รางวัลชมเชย มี 3 รางวัล ได้แก่  
    1. กระต่ายน้อยนอนไม่หลับ ของ อธิษฐาน ปกป้อง,
    2. ความดีสีเหลืองส้ม ของ รัตนา คชนาท ,
    3. ม็อกซ์แมวมหัศจรรย์ ของ สุมาลี
    4. หนังสือสารคดี สำหรับเด็ก อายุ 6-11 ปี ส่งประกวด 12 เรื่อง
      ไม่มีหนังสือเรื่องใดสมควรได้รับรางวัล
      รางวัลชมเชย มี 3 รางวัล ได้แก่  
    5. จินตนาการ : สานสรรค์การ์ตูนรูปสัตว์ของ ครูอ๋า : สิทธิพร กุลวโรตตมะ,
    6. ดอกไม้ริมทาง ของ ลุงมวล,
    7. ดาวน้อยสีน้ำเงิน ของ เดซี่
    8. หนังสือบันเทิงคดีสำหรับเด็กวัยรุ่น อายุ 12-18 ปี ส่งเข้าประกวดทั้งหมด 24 เรื่อง
      รางวัลดีเด่น  ได้แก่
      แผ่นดินพ่อ  ของ ญิบ พันจันทร์
      รางวัลชมเชย มี 3 รางวัล ได้แก่  
    9. กล้องส่องทางใจ ของ สิริพันธุ์ สุนทรวิจิตร,
    10. รุ้งสายฝน ของ ณรงค์ฤทธิ์ ศักดารณรงค์ ,
    11. ลมแล้งเริงระบำ  ของ จตุพร แพงทองดี

      หนังสือสารคดีสำหรับเด็กวัยรุ่น อายุ 12-18 ปี ส่งเข้าประกวด 9 เรื่อง
      ไม่มีหนังสือเรื่องใดสมควรได้รับรางวัล
      รางวัลชมเชย มี 1 รางวัล ได้แก่  
      78 ตารางวา ของ  คณา คชา 
      หนังสือบทร้อยกรองสำหรับเด็กวัยรุ่น อายุ 12-18 ปี ส่งเข้าประกวด 4 เรื่อง
      รางวัลดีเด่น ได้แก่ ของขวัญจากหัวใจ ของ วรวุฒิ ภักดีบุรุษ
      รางวัลชมเชย มี 1 รางวัล ได้แก่  
      น้ำในสำนวนไทย ของ สุวัฒน์ ไวจรรยา
      หนังสือการ์ตูนหรือนิยายภาพ ส่งเข้าประกวด 61 เรื่อง
      รางวัลดีเด่น ได้แก่
      การ์ตูนประวัติศาสตร์ชาติไทย ยุคสุโขทัย เล่มที่ 1 กำเนิดสุโขทัย การรวมตัวของคนไทยของ สละ นาคบำรุง
      รางวัลชมเชย มี 3 รางวัล ได้แก่  
    1. การ์ตูนประวัติศาสตร์ชาติไทย ยุคอยุธยา เล่มที่ 1 กำเนิดกรุงศรีอยุธยา ปฐมราชวงศ์กรุงศรีอยุธยา”  ของ สละ นาคบำรุง,
    2. พระสังกัจจายน์ ของ โอม รัชเวทย์,
    3. โรงเรียนเม็ดกวยจี๊ คูณ3ของ อิทธิวัฐก์ สุริยมาตย์

      หนังสือสวยงามทั่วไป ส่งเข้าประกวดทั้งหมด 23 เรื่อง
      รางวัลดีเด่น ได้แก่ เดินตามฝัน ของ ระวีวรรณ ประกอบผล
      รางวัลชมเชย มี 1 รางวัล ได้แก่  
    1. พระของประชาชน สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายกของ ศิริวรรณ สุขวิเศษ ,
    2. พระมหามณฑป พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร สถิตศรัทธาสถาพร ของ วิศิษฎ์ ลิ้มประนะ และคณะ,
    3. สารานุกรมภาพลายเส้น สถาปัตยกรรมรัตนโกสินทร์ เล่ม 1 บ้านของ ธีรศักดิ์ วงศ์คำแน่น 
    4. หนังสือสวยงามสำหรับเด็ก ส่งเข้าประกวดทั้งหมด 80 เรื่อง
      รางวัลดีเด่นได้แก่ ดอกไม้ริมทาง ของ ลุงมวล
      รางวัลชมเชย มี 1 รางวัล ได้แก่  
    5. ข้าวเพียงเมล็ดเดียว ของ สมบูรณ์ ศิงฆมานันท์,
    6. นิทานจากโลกตะวันออก ของ รัตนา คชนาท ,
    7. มหัศจรรย์รามเกียรติ์สำหรับเด็ก ของ ปิติพร วทาทิยาภรณ์




วันพุธที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ทำไม-เหตุใด...ต้องอ่านหนังสือทรงคุณค่า "เอกกษัตริย์ ใต้รัฐธรรมนูญ"



โฉมหน้าใหม่ของประวัติศาสตร์ไทยเริ่มต้นขึ้นอย่างง่ายดายและเงียบงำในเช้าของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ณ ลานพระที่นั่งอนันตสมาคม

...ในนามของหัวหน้าคณะผู้ยึดอำนาจ พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา รองจเรทหารบกในขณะนั้น ได้เป็นผู้อ่านประกาศแถลงการณ์ อันจะเป็นผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชนิดพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินขึ้นในสยามประเทศในเวลาต่อมา”

เป็นข้อความในปกหลังของหนังสือ “เอกกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ” เล่ม 1 โดย วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย นักเขียนนักหนังสือพิมพ์ชื่อดัง ซึ่งได้เปิดตัวเป็นทางการเร็ว ๆ นี้ ท่ามกลางเสียงตอบรับกระหึ่มเมือง

หนังสือชุดนี้ได้ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับเหตุการณ์ทางการเมือง และพัฒนาการทางการเมือง ที่พระมหากษัตริย์จะทรงมีบทบาทเช่นไรภายใต้รัฐธรรมนูญ นับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน 2475 จนถึงปีที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองราชย์ครบ 60 ปี

เป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยเกิดวิกฤติการณ์การเมืองมากมาย ประชาธิปไตยล้มลุกคลุกคลาน มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง สลับด้วยการปฏิวัติ ยึดอำนาจ ฉีกรัฐธรรมนูญ แล้วก็ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เลือกตั้งใหม่วนเวียนอยู่เช่นนี้ ครั้งแล้ว ครั้งเล่า

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะทรงเป็นพระประมุขของชาติ ถูกตั้งความหวังให้ทรงเข้ามาดับทุกข์เข็ญ คลายวิกฤติชาติ ทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่ในฐานะ พระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ จะทรงทำเช่นไร ย่อมมิใช่เรื่องง่าย ๆ เลย ดังเช่น วิกฤติการขอนายกฯพระราชทาน ตามมาตรา 7

“ซึ่งขอยืนยันว่า มาตรา 7 นั้นไม่ได้หมายถึง ยอมให้ พระมหากษัตริย์มีอำนาจที่จะทำอะไรตามใจชอบ ไม่ใช่ มาตรา 7 นั้น พูดถึงการปกครองแบบมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่ได้บอกว่าให้พระมหากษัตริย์ตัดสินทำได้ทุกอย่าง

ถ้าทำ เขาจะต้องว่า พระมหากษัตริย์ทำเกินหน้าที่ ซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยเกิน ไม่เคยทำเกินหน้าที่ ถ้าทำเกินหน้าที่ก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย” จากหนังสือ “เอกกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ” เล่ม 3 หน้า 221

จะมีสักกี่คนที่เข้าใจพระองค์....อย่างลึกซึ้ง ??
“เป็นเสมือนหนังสือที่รวบรวมเรื่องราว หรือเหตุการณ์ที่เป็นประวัติศาสตร์การเมืองหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในส่วนที่มีปฏิสัมพันธ์กับสถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างละเอียดตลอดรัชกาล” เป็นคำนำตอนหนึ่งของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีคลัง เป็นเนื้อหาในบทนำ และ

เขียนได้โดนใจที่สุด...
หนังสือมีทั้งหมด 3 เล่ม หนักเฉลี่ยเล่มละ 1 กก. หนา 1,144 หน้า ใช้เวลารวบรวมและเรียบเรียงข้อมูลก่อนลงมือเขียนนานกว่า 5 ปี มีปัญหาอุปสรรคจนเกือบต้องเลิกกลางคันมาก มาย หากผู้เขียนไม่มีความอดทน และตั้งใจวิริยอุตสาหะอย่าง เอกอุ

ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ นักประวัติศาสตร์ชื่อดัง ชี้ว่า หนังสือชุดนี้มีความเด่นในด้าน
1.มีวัตถุดิบที่เป็นอดีต เป็นภูมิหลังของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

2.ได้ศึกษาถึงบทบาทพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ 3.สัมผัสได้ถึงความเป็นมนุษย์ของ รัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 ว่า ทรงมีความสุข ความทุกข์ ดีใจ เศร้าใจ เช่นมนุษย์คนหนึ่ง มิใช่มิติที่เป็นสมมุติเทพเท่านั้น

ดังเช่น “พระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงเคยรับสั่ง ไม่อยากเป็นพระมหากษัตริย์ เพราะเวลาไปไหน มีแต่คนล้อมหน้า ล้อมหลัง วิ่งไม่ได้ บัลลังก์สูง กลัวตกลงมา กลัวพระยาพหลฯ จะดุ และขี้เกียจเป็น” ซึ่งขณะนั้นยังทรงพระเยาว์มาก

เหล่านี้คือส่วนหนึ่งที่เป็นเสน่ห์ของหนังสือชุดสำคัญนี้
ดร.สุวรรณา เกรียงไกรเพ็ชร อาจารย์อักษรศาสตร์ กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่แค่เสนอเกี่ยวกับพระราชประวัติหรือความผูกพันในพระราชวงศ์ แต่เป็นเรื่องระหว่างคนกับแผ่นดิน ที่เสนอผ่านความจริงทางประวัติศาสตร์การเมือง การปกครอง

“จึงไม่ต้องหักโหม แต่อ่านได้สบาย ๆ”
ขณะที่ ดำรง พุฒตาล พิธีกรชื่อดัง บอก อ่านหนังสือเล่มแรกจากเจ้าของโรงพิมพ์กรุงเทพฯ ส่งมา “ตั้งแต่ 10 โมงเช้า ถึง 3-4 ทุ่ม ก็ไม่ได้วางเลย” หลังจากนั้นก็ได้รับเล่มที่ 3 “พอได้อ่านเล่มที่ 2 ถึงรู้ ทำไม...ถึงช้า”

อยากรู้ ก็คงต้องหาซื้อมาอ่านเอง บอกได้เพียง เกินคุ้ม สมกับที่รอคอยมานาน เหนือสิ่งอื่นใด คนไทยจะได้ทราบว่า พระองค์ไม่เคยที่จะกระทำผิดในบทบาทของพระมหากษัตริย์ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเลย
ไม่ว่าครั้งใดก็ตาม.

.................................................................................................................................

ข้อโต้แย้งกรณีสวรรคต ในหนังสือ เอกกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญฯ

tags:
วันอังคารที่ผ่านมา (28 ก.ย.2553) มีพี่ที่เคารพนับถือกันท่านหนึ่งโทรศัพท์มาเล่าว่า มีหนังสือเล่มใหม่ออกมาบิดเบือนประวัติศาสตร์อีกแล้ว โดยเฉพาะกรณีสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8 ผู้เขียนชื่อ วิมลพรรณ ปิตธวัชชัย

เหตุที่คุณพี่ท่านนั้นโทรศัพท์มาเล่าเพราะทราบดีว่า คุณพ่อ (สุพจน์ ด่านตระกูล) ของข้าพเจ้า เป็นผู้ที่ติดตามและนำเสนอข้อมูลในเรื่องกรณีสวรรคต มาอย่างที่สื่อมวลชนบางท่านนินทาว่า กัดไม่ปล่อย ต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนาน จนได้รับรางวัลเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป ในฐานะนักเขียนดีเด่น
จึงแสดงความคิดเห็นว่า ข้าพเจ้าน่าที่จะนำข้อเท็จจริงมาตอบโต้ เพื่อที่ผู้อ่านจำนวนมาก จะได้ไม่เข้าใจผิดตามถ้อยความที่ไม่ตรงกับความจริงของ วิมลพรรณ ปิตธวัชชัยโดยเฉพาะข้อมูลบางตอน ที่ถูกนำมาเผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์มติชนและ www.matichon.co.th อยู่ในเวลานี้

อันนามผู้เขียน วิมลพรรณ ปิตธวัชชัยนี้ เป็นชื่อที่ข้าพเจ้าคุ้นเคย ในแง่ที่งานเขียนของเธอหลายชิ้น ได้ถูกคุณพ่อของข้าพเจ้านำมาวิพากษ์วิจารณ์ และโต้แย้งในหลายๆกรณี ที่เธออาจเข้าใจคลาดเคลื่อน (หรือจงใจก็ไม่ทราบ) เช่น หนังสือเรื่อง ข้าวของพ่อ ในหน้า 42 (ฉบับพิมพ์ครั้งที่2)  เธอได้เขียนบรรยายไว้ว่า

หลังสงครามโลกครั้งที่2 สิ้นสุดลง ประเทศไทยซึ่งตกอยู่ในฐานะผู้พ่ายแพ้สงคราม เพราะเป็นมิตรกับญี่ปุ่นนั้นก็ถูกฝ่ายสัมพันธมิตร บังคับให้ส่งข้าวไปชดใช้ค่าสงครามถึงปีละ 1ล้าน 5 แสนตัน   ข้าวไม่เพียงแต่เลี้ยงคนไทยให้อยู่รอด ไม่อดตาย และผ่านสงครามอันร้ายกาจมาได้เท่านั้น ข้าวยังได้ช่วยชาติให้พ้นภัยในฐานะผู้พ่ายแพ้อีกด้วย

แต่จากเอกสารหลักฐานที่พิสูจน์ได้ กลับตรงกันข้าม

1. ประเทศไทยไม่เคยตกอยู่ในฐานะผู้พ่ายแพ้สงคราม เพราะคุณูปการของขบวนการเสรีไทย ทำให้เราสามารถประกาศสันติภาพได้ในวันที่ 16 สิงหาคม ค.ศ.1945 และท่านปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการในขณะนั้นได้ประกาศในนามของประชาชนชาวไทยว่า การประกาศสงครามของไทยต่อสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่เป็นโมฆะ รัฐบาลไทยต่อมาได้กำหนดให้วันที่ 16 สิงหาคม เป็นวันสันติภาพไทย และได้มีงานเฉลิมฉลอง

แต่ต่อมาในยุคเผด็จการครองเมือง และยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ วันชาติ 24 มิถุนายน และ วันสันติภาพ 16 สิงหาคม ถูกทำให้เลือนหายไปจากความทรงจำของประชาชน จนกระทั่งในวันที่ 10  มิถุนายน 2545 จึงได้มีคำสั่งจากสำนักนายกรัฐมนตรี ให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงาน เปิดอาคารเสรีไทยอนุสรณ์ที่ตั้งอยู่ ณ สวนเสรีไทย เขตบึงกุ่ม

(อ่านเพิ่มเติมได้จาก คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 171/2545 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานเปิดอาคารเสรีไทยอนุสรณ์) และต่อมาได้มีการจัดกิจกรรมรำลึกถึงวันสันติภาพไทย ทุกวันที่ 16 สิงหาคม เป็นประจำทุกปีจนกระทั่งปัจจุบัน (2553)

2.  ที่วิมลพรรณ เขียนว่า ไทยถูกฝ่ายสัมพันธมิตร บังคับให้ส่งข้าวไปชดใช้ค่าสงครามถึงปีละ 1ล้าน 5 แสนตัน นั้น ความจริงไม่ใช่ปีละ 1ล้าน 5 แสนตัน แต่เป็นจำนวนทั้งหมด 1.5 ล้านตัน ไม่ใช่ต่อปี (ให้ครบ 1.5 ล้านตันเมื่อไรก็จบกัน)

แต่สุดท้ายแล้วในวันที่ 1 พฤษภาคม 1946 อังกฤษยอมปรับปรุงสนธิสัญญาข้อนี้เป็น ให้ไทยขายข้าวในราคาถูกให้อังกฤษ 1.2 ล้านตันแทนการให้เปล่า โดยความสามารถของรัฐบาลไทยในขณะนั้น (ปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรี) ที่ได้ทำการเจรจาเป็นผลสำเร็จสรุปว่า ไทยต้องให้ข้าวแก่อังกฤษเปล่าๆทั้งหมดเพียง 150,000 ตัน เท่านั้น (หาอ่านเพิ่มเติมได้จาก-หนังสือไทยกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ของดิเรก ชัยนาม

-วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2539 เรื่อง การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจข้าวในภาคกลางกับผลกระทบต่อสังคมไทย ช่วงพ.ศ.2460-2498 ของ ธรรมรักษ์ จำปา

-หนังสือการวิเทโศบายของไทยระหว่างปีพุทธศักราช 2483 ถึง 2495 (2527) ของดร.กนต์ธีร์ ศุภมงคล

-เว็บไซด์ฐานข้อมูลการเมืองการปกครองสถาบันพระปกเกล้าฯ
เอกสารหลักฐานสำคัญอีกฉบับหนึ่งคือ หนังสือแจกในงานศพของนายทวี บุณยเกตุ ซึ่งท่านได้บันทึกเหตุการณ์เกี่ยวกับปัญหาเรื่องนี้ไว้ด้วยตัวเอง ว่าดังนี้

“.........ก็พอดีวันหนึ่ง จะเป็นวันที่เท่าใดข้าพเจ้าจำไม่ได้ แต่อยู่ในระหว่างวันที่ 1 ถึงวันที่ 17 กันยายน 2488 นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้โทรศัพท์เชิญข้าพเจ้า (นายทวี บุณยเกตุ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น)ให้ไปพบที่ทำเนียบท่าช้าง

เมื่อข้าพเจ้าไปถึงก็ได้ส่งโทรเลขของม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ให้ข้าพเจ้าอ่าน ซึ่งมีความเป็นทำนองหารือมาว่า หากประเทศไทยจะเสนอให้ข้าวแก่ฝ่ายสัมพันธมิตรสัก 1,200,000 ตัน หรือ 1,500,000 ตัน (จะเป็นจำนวนไหนข้าพเจ้าจำไม่ได้ แต่แน่ใจว่าเป็นจำนวนหนึ่งใน 2 จำนวนนี้) โดยไม่คิดมูลค่าจะได้หรือไม่ เพื่อแสดงอัธยาศัยไมตรี

เมื่อข้าพเจ้าได้อ่านข้อความในโทรเลขดูตลอดแล้ว ก็วิตกกังวลมาก เพราะว่า การให้ข้าวโดยไม่คิดมูลค่า เป็นจำนวนมากเท่ากับการขายข้าวส่งออกนอกประเทศของเราในยามปกติตลอดปี มันเท่ากับเป็นค่าปรับสงครามนั่นเอง เพราะจะเป็นเงินมหาศาลสำหรับประเทศไทย คือจะเป็นเงินไม่น้อยกว่า 2 พันล้านบาท

และนอกจากนั้นแล้วข้าวจำนวนนี้จะมีพอให้หรือไม่ก็ยังไม่ทราบ เพราะในระหว่างสงครามนั้น แม้ว่าเราจะไม่สามารถส่งข้าวไปขายยังต่างประเทศดังเช่นยามปกติก็ตาม แต่ทหารญี่ปุ่นก็ได้มากว้านซื้อเอาไปหมด ข้าพเจ้าจึงขอนำเรื่องไปหารือกับเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องก่อน นายปรีดี พนมยงค์จึงกล่าวว่า เรื่องนี้เราจะต้องรีบตอบ กว่าจะสอบสวนอาจจะเสียเวลานาน
 ฉะนั้นขอให้ข้าพเจ้าตกลงว่า ไหนๆอังกฤษและอเมริกาก็ทราบเป็นอย่างดีอยู่แล้วว่า ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย และไหนๆม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ก็ได้เสนอให้เขาไปแล้วก็ควรตอบไปว่า เห็นควรรับได้ในหลักการ ส่วนเรื่องจำนวนที่จะให้นั้น จะได้ตกลงพิจารณาในภายหลังจะได้หรือไม่? ข้าพเจ้าเห็นด้วย จึงยอมตกลงที่จะให้มีโทรเลขตอบไปเช่นนั้น”

ข้าวจำนวน 1.2 ล้านตัน หรือ 1.5 ล้านตัน ที่จะให้แก่สัมพันธมิตรฟรีๆนั้น เป็นข้อเสนอของม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และได้ปรากฏอยู่ในความตกลงสมบูรณ์แบบข้อ 14(ความตกลงสมบูรณ์แบบ เป็นข้อตกลงที่ไทยลงนามกับอังกฤษเมื่อ 1 มกราคม 2489 โดยรัฐบาล ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เพื่อชดเชยค่าปฏิกรรมสงครามให้กับอังกฤษภายใน 1 กันยายน 2490) แต่ต่อมาเมื่อท่านปรีดี พนมยงค์เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็ได้แก้ปัญหานี้จากการให้ฟรีเป็นการซื้อขาย ดังปรากฏข้อเท็จจริงอยู่ในรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (สามัญ) ครั้งที่ 33 วันที่ 2 พฤษภาคม 2489

ข้าพเจ้าไม่ทราบว่า วิมลพรรณ ปิตธวัชชัย ไม่ได้ค้นคว้าหาข้อมูลให้รอบด้าน หรือจงใจบิดเบือนประวัติศาสตร์เพื่อให้เยาวชนคนรุ่นหลังเข้าใจผิด ข้าพเจ้าไม่ได้มีอคติต่อวิมลพรรณ เป็นการส่วนตัว แต่ข้าพเจ้าจำเป็นต้องเขียนยืนยันสัจจะ ตามหลักฐานข้อเท็จจริง เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ถูกบิดเบือน เพราะหนึ่งเป็นหน้าที่ของลูกที่จะสานต่อ งานเผยแพร่สัจจะของผู้เป็นพ่อ และสองเป็นหน้าที่ของประชาชนผู้รักสัจจะทุกคน ที่ต้องช่วยกันเผยแพร่ความจริงนี้ออกไป เพื่อประโยชน์แห่งการศึกษาค้นคว้าของเยาวชนในอนาคต
ในกรณีหนังสือออกใหม่ของเธอ เรื่องเอกกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ที่อ้างว่า ได้ค้นคว้าหาข้อมูลหลักฐานเอกสารมากมาย โดยเฉพาะกรณีสวรรคตของรัชกาลที่8 ตอนหนึ่งของหนังสือเล่ม 2 หน้า 29 บอกว่า

“.....การสอบสวนชันสูตรพระบรมศพของตำรวจในครั้งแรก ก็ทำอย่างหยาบๆไม่ได้พิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วนตั้งแต่แรก เมื่อจะมีการแถลงการณ์ให้เป็นที่รับทราบของประชาชน นายปรีดี พนมยงค์ ถามหลวงนิตย์ว่า แถลงว่า สวรรคตเพราะพระนาภี (ท้อง) เสียได้หรือไม่ หลวงนิตย์ฯตอบว่า ไม่ได้
หลวงเชวงศักดิ์สงครามถามว่า เพราะโรคหัวใจได้ไหม หลวงนิตย์ปฏิเสธอีก จะออกแถลงการณ์ว่า ในหลวงปลงพระชนม์เอง กรมขุนชัยนาทนเรนทรทรงคัดค้าน รับสั่งให้แถลงการณ์ตามที่เป็นจริง นายกรัฐมนตรี (นายปรีดี พนมยงค์) จึงแถลงการณ์ว่า “เป็นอุบัติเหตุ” ซึ่งกรมขุนชัยนาทฯและพระบรมวงศานุวงศ์ ไม่ได้คัดค้านหรือห้ามการสืบสวนตามกฏหมาย โดยอ้างว่าขัดกับประเพณีแต่อย่างใด”

ส่วนข้อเท็จจริง ไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ข้าพเจ้าคิดเอาเองว่าจริง แต่เป็นข้อเท็จจริงตามคำให้การ ของนายแพทย์หลวงนิตย์ฯซึ่งตามประวัติกล่าวว่า เป็นผู้ใกล้ชิดกับสมเด็จพระราชชนนี และสมเด็จพระราชบิดามาช้านาน เป็นผู้ที่เชื่อถือได้ว่า มีความจงรักภักดีเป็นอย่างยิ่ง ทั้งคุ้นเคยกับในหลวงรัชกาลที่ 8 และในหลวงรัชกาลที่ 9 ทั้งสองพระองค์

นายแพทย์หลวงนิตย์ เวชวิศิษฏ์ได้ให้การไว้ต่อศาลอาญา เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2492 ดังนี้

“ขณะที่ขึ้นไปถวายบังคมนั้น พลโทพระศิลปศัสตราคม เป็นผู้ที่ร้องไห้ดังๆ ซึ่งใครๆในที่นั้นเหลียวไปดู แล้วพระรามอินทราจะพูดกับนายกรัฐมนตรีหรือใครจำไม่ได้ว่า ใคร่จะขอชันสูตรพระบรมศพ แต่กรมขุนชัยนาทฯห้ามมิให้กระทำ

เกี่ยวกับแถลงการณ์ของสำนักพระราชวังนั้น นายทวี บุณยเกตุได้จดบันทึกไว้โดยละเอียดว่า ใครมีความเห็นอย่างไร กรมขุนชัยนาทฯ ในฐานะเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ได้ปรารภกับท่านหญิงแก้ว (มจ.อัปภัสราภา เทวกุล) เป็นการส่วนพระองค์ว่า “เรื่องนี้ (หมายถึงกรณีสวรรคต)ต้องให้ท่านนายก (ท่านปรีดี) ช่วย”
ต่อมาเมื่อนายกรัฐมนตรีและคนอื่นๆ เข้าไปที่พระที่นั่งพระบรมพิมานแล้ว และปรึกษากันว่า จะแถลงการณ์ให้ประชาชน ทราบถึงเหตุแห่งกรณีสวรรคตว่าอย่างไรขณะนั้นกรมขุนชัยนาทฯ กำลังประทับยืนอยู่ที่อัฒจันทร์บันไดใหญ่ได้ออกความเห็นว่า “สวรรคตเพราะประชวรพระนาภี”พร้อมกับเอานิ้วชี้ที่ท้องของพระองค์เองเป็นการออกท่าทาง
ต่อความเห็นของกรมขุนชัยนาทฯดังกล่าวนี้ ท่านปรีดีฯไม่เห็นด้วยและมีความเห็นแย้งว่า พระองค์สวรรคตโดยมีบาดแผลและเสียงปืนที่ดังขึ้นก็มีคนได้ยินกันมาก ฉะนั้นจะแถลงการณ์ว่า สวรรคตเพราะประชวรพระนาภีไม่ได้ ในที่สุดจึงได้มีแถลงการณ์ออกมาว่าเป็นอุปัทวเหตุ โดยได้รับความเห็นชอบจากพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง
ดังปรากฏในบันทึกของกรมตำรวจลงวันที่ 9 มิถุนายน 2489 และได้นำมาเปิดเผยต่อมหาชนในการเปิดอภิปรายทั่วไป ในสมัยรัฐบาลธำรงนาวาสวัสดิ์ ดังหลักฐานในรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฏร ระหว่างวันที่ 23-27 พฤษภาคม 2490 มีความตอนหนึ่งว่าดังนี้

“วันนี้เวลา 15 น.มีพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ อาทิ พระวรวงศ์เธอกรมขุนชัยนาทนเรนทร พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุมภฏ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ พระองค์เจ้าวรรณ พระองค์เจ้าธานี กับท่านนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีอีกหลายท่าน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกระทรวงการต่างประเทศ ได้ไปชุมนุมกันพิจารณารายงานของอธิบดีกรมตำรวจ เกี่ยวกับการสอบสวนสืบสวนกรณีสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในระหว่างชุมนุมดังกล่าว อธิบดีกรมตำรวจได้ทูลขอประทานความเห็นของสมเด็จกรมขุนชัยนาท ได้รับสั่งว่า สำหรับพระองค์ท่านเองทรงเข้าใจว่า เป็นอุบัติเหตุจริงดังแถลงการณ์ของทางราชการ เหตุผลที่ชี้เช่นนั้น ก็เพราะพระองค์ทราบว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดพระแสงปืนมาก

และเคยเห็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงกระชากพระแสงปืน และทรงหันลำกล้องเอาปากกระบอกมาทางพระพักตร์ เพื่อส่องดูลำกล้อง และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยรับสั่งว่า ปืนประบอกนี้ ไกอ่อน ลั่นง่าย จึงบันทึกไว้ พ.ต.ท. (ลิมอักษร)”

ซึ่งหลักฐานนี้ข้าพเจ้าคัดลอกมาจากหนังสือ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคตของนายสุพจน์ ด่านตระกูลผู้เป็นบิดา ถ้าคำให้การของหลวงนิตย์ฯ ตามที่คุณพ่อนำมาเขียนไว้นั้นไม่ตรงตามข้อเท็จจริง หลวงนิตย์ฯน่าจะทำการฟ้องร้องว่า คุณพ่อหมิ่นประมาท เขียนความเท็จเสียนานแล้ว
เพราะขณะที่หนังสือของคุณพ่อออกวางจำหน่ายเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2517 หลวงนิตย์ฯยังมีชีวิตพำนักอยู่บ้านเลขที่ 813 ซอยธนาคารศรีนคร ถนนเพชรบุรี ประตูน้ำ  และคุณพ่อของข้าพเจ้าก็ไม่ใช่บุคคลร่อนเร่พเนจร แต่มีหลักแหล่งอยู่อาศัยที่แน่นอน และหนังสือเล่มนี้ ไม่ใช่หนังสือใต้ดินหากพิมพ์จำหน่ายวางแผงตามท้องตลาดโดยทั่วไป

ถ้าหลวงนิตย์คิดจะติดตามหาตัวคุณพ่อข้าพเจ้านั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่ตรงกันข้ามหลวงนิตย์ฯกลับให้สัมภาษณ์ แก่หนังสือพิมพ์พิมพ์บางกอกไทม์ ฉบับวันที่ 22 กรกฎาคม 2517 ว่า

“ผมขอชมเชยหนังสือปกขาว (ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต) ของคุณสุพจน์ ด่านตระกูล ที่เขียนไว้ในหน้า 103-108 เกี่ยวกับลักษณะของพระบรมศพ เป็นข้อเท็จจริงทั้งหมด ทั้งๆที่ส่วนตัวของผมเองก็ไม่เคยรู้จักหน้าค่าตาคุณสุพจน์มาก่อนเลย”

คำชมเชยของนายแพทย์หลวงนิตย์ฯ เป็นเครื่องยืนยันได้ชัดเจนว่าข้อมูลในหนังสือ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต ที่เขียนโดยนายสุพจน์ ด่านตระกูลนั้นเป็นความจริง และอีกตอนหนึ่งในหนังสือเอกกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญเล่ม 2 หน้า 40 เขียนว่า

หลังการชันสูตรพระบรมศพแล้ว แพทย์ลงความเห็นว่า สาเหตุใดมีน้ำหนักว่าเป็นไปได้มากที่สุด ปรากฏว่า ประเด็นถูกลอบปลงพระชนม์มีน้ำหนักมากที่สุด คือ

ถูกลอบปลงพระชนม์มีน้ำหนักมากที่สุด 16 เสียง
ปลงพระชนม์เองมีน้ำหนักมากที่สุด 14 เสียง
อุปัทวเหตุมีน้ำหนักมากที่สุด 2 เสียง

ในขณะที่ก่อนหน้านี้ นายปรีดี พนมยงค์ได้เรียก นายดิเรก ชัยนาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หลวงอดุลย์เดชจรัส และ นายดอล ที่ปรึกษาการคลัง ไปพบ นายปรีดีบอกนายดิเรกว่า ได้ทราบว่า

มีการยุยงแพทย์ฝรั่งให้เล่นการเมืองนอกเหนือหน้าที่แพทย์ ทั้ง 4 คน คือ นายปรีดี นายดิเรก หลวงอดุลย์เดชจรัส และนายดอล เห็นพ้องต้องกันว่า แพทย์ควรทำหน้าที่ชันสูตรพระบรมศพอย่างเดียว ไม่ควรออกความเห็นเรื่องสาเหตุ
นายปรีดีได้ใช้ให้นายดิเรก และนายดอลไปแจ้งให้เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยทราบ ในที่สุดแพทย์กองทัพอังกฤษจึงได้ขอถอนความเห็น โดยนายแพทย์ไดร์เบิร์ก(ซึ่งได้รับเชิญร่วมชันสูตรพระบรมศพ ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน) แจ้งแก่พระยาดำรงแพทยาคุณว่า จำต้องถอนความเห็นเพราะเป็นทหารต้องปฏิบัติตามวินัย

และ รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ได้ให้สัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันอังคารที่ 28 กันยายนว่า ผู้เขียน (วิมลพรรณ)ได้ค้นข้อมูลจากลอนดอน ได้ข้อสรุปว่า ได้มีการโทรเลขจากสถานทูตอังกฤษในไทยไปยังลอนดอน ประเทศอังกฤษเรื่องการเจรจา ขอให้แพทย์อังกฤษงดออกความเห็นการชันสูตรพระบรมศพ

ตรงนี้คือหลักฐานใหม่ที่คนไทยจะได้รู้

ผู้อ่านหนังสือ เอกกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ มาถึงตอนนี้อาจจะตื่นเต้นตามรศ.ดร.สุเนตร ไปด้วยถ้าไม่เคยอ่าน คำให้การของหลวงนิตย์ฯในหนังสือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต ของนายสุพจน์ ด่านตระกูล ถ้าอ่านแล้วจะทราบดีว่า เป็นหลักฐานใหม่หรือไม่ อย่างไร

เพราะคำให้การของหลวงนิตย์ฯต่อศาลสถิตยุติธรรมในฐานะพยานโจทก์ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2492 ว่าดังนี้

“ในคืนวันที่ 25 เวลาประมาณ 21 นาฬิกา หรือก่อนหน้านั้นนิดหน่อย ข้าพเจ้าได้รับโทรศัพท์จากทำเนียบท่าช้างว่า นายกรัฐมนตรีต้องการพบข้าพเจ้า ข้าพเจ้าก็ไปที่ทำเนียบทันที ไปถึงทำเนียบเข้าใจว่า เป็นเวลาไม่เกิน 21 นาฬิกา พบท่านนายกรัฐมนตรี
ท่านได้ต่อว่า ข้าพเจ้าว่าทำไมแพทย์ชันสูตรพระบรมศพแล้วจึงต้องออกความเห็นด้วยว่า กรณีเกิดจากอย่างใดอย่างหนึ่งในสามอย่างนั้น ตามธรรมดาที่ปฏิบัติกันกันในเมืองไทยนี้ แพทย์จะแสดงความความเห็นได้แต่เพียงว่า การตายเกิดจากอะไร แผลเข้าทางไหนออกทางไหน ถูกอวัยวะสำคัญหรือไม่อย่างไร จึงทำให้ตายเท่านั้น

การที่แพทย์ออกความเห็นเลยไปเช่นนี้น่าจะไม่ถูกต้อง ข้าพเจ้าจึงเรียนตอบว่า ไม่ควรจะออกความเห็นเช่นนั้นเหมือนกัน เพราะไม่ได้ชันสูตรแต่ต้นมือ ไม่มีโอกาสได้เห็นท่าทางพระบรมศพโดยตนเอง ไม่ได้เห็นวัตถุของกลาง จึงควรออกความเห็นได้เฉพาะบาดแผลเท่านั้น

ท่านพูดต่อไปว่า แพทย์ฝรั่งที่เชิญมาร่วมชันสูตรพระบรมศพนั้น ก็ทำเกินหน้าที่ของแพทย์ไปด้วย และเป็นการนอกเหนือจากข้อความในหนังสือที่เชิญมา ชันสูตรพระบรมศพและท่านได้ปรารภต่อไปว่า ก็ควรจะให้แพทย์ฝรั่งทราบว่า ที่ออกความเห็นเช่นนั้นไม่ถูก ควรจะถอนความเห็นไปเสีย

และได้สั่งให้นายดิเรก ชัยนามในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น ซึ่งถูกเรียกไปด้วย ให้ไปจัดการเรื่องนี้กับฝรั่งต่อไป ข้าพเจ้ากลับจากทำเนียบเวลาประมาณ 22-23 นาฬิกา เมื่อข้าพเจ้ากลับมาแล้ว นายดิเรกจะยังอยู่หรือไปก่อนแล้วข้าพเจ้าจำไม่ได้

รุ่งขึ้นวันที่ 26 เดือนเดียวกันนั้น ได้มีการประชุมคณะกรรมการแพทย์ตามนัดที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เริ่มประชุมเวลา 9.30 นาฬิกา เท่าที่จำได้มีกรรมการแพทย์มาประชุมครบเหมือนวันก่อน พอเปิดประชุมพันเอกไดรเบอร์ก ก็แถลงต่อที่ประชุมว่า

เขามีความเสียใจในฐานะเป็นนายแพทย์อยู่ในกองทัพอังกฤษ ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับกรณีสวรรคตจะเกี่ยวข้องในทางการเมือง และได้ทราบจากเอกอัครราชทูตอังกฤษว่า ที่กระทำไปนั้นไม่ถูกต้องเสียแล้ว เพราะ ฉะนั้นเขาขอถอนความเห็นของเขา
ที่เป็นเช่นนั้นข้าพเจ้าเข้าใจว่า เนื่องจากท่านนายกรัฐมนตรีให้นายดิเรก ชัยนามไปจัดการ และนายดิเรก ชัยนามคงพูดกับเอกอัครราชทูตอังกฤษ ที่พันเอกไดรเบอร์กขอถอนความเห็นนี้ ขอถอนความเห็นของนายแพทย์กองทัพอังกฤษทั้งคณะ คือรวมทั้งพันโทรีสและร้อยเอกคุปต์ด้วย ในหน้ากระดาษความเห็นที่มีขีดฆ่านั้น ใครขีดฆ่าไม่ทราบ

ในคราวประชุมวันที่ 25 พันเอกไดรเบอร์กได้รับว่า จะเรียบเรียงรายงานการประชุมเป็นภาษาอังกฤษแล้วพิมพ์แจก ในวันที่ 26 ก็ไม่ได้ขอถอนหรือของดแต่อย่างใด คงขอถอนเฉพาะความเห็นเท่านั้น รุ่งขึ้นวันที่ 27 ก็ส่งบันทึกมาให้ (โจทก์ขอให้พยานดูบันทึกรายงานการประชุมภาษาอังกฤษที่ดร.ไดรเบอร์กเรียบเรียง พยานดูแล้วรับรองว่าถูกต้อง).....”

จากคำให้การของหลวงนิตย์ฯ ต่อศาลสถิตยุติธรรมนี้ แสดงให้เห็นว่า หลวงนิตย์ฯ ผู้เป็นแพทย์ส่วนพระองค์รับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท และดำรงตำแหน่งเป็นถึงอธิบดีกรมการแพทย์ ยังมีความคิดเห็นตรงกับท่านปรีดีฯว่า ไม่ควรจะออกความเห็นเช่นนั้นเหมือนกัน เพราะไม่ได้ชันสูตรแต่ต้นมือ ไม่มีโอกาสได้เห็นท่าทางพระบรมศพโดยตนเอง ไม่ได้เห็นวัตถุของกลาง จึงควรออกความเห็นได้เฉพาะบาดแผลเท่านั้น

และการที่ท่านปรีดีฯได้แสดงความเห็นว่า ขอให้นายแพทย์กองทัพอังกฤษถอนความคิดเห็นไปเสียนั้น ไม่ใช่ให้ถอนเฉพาะแพทย์อังกฤษ แต่รวมถึงนายแพทย์คนไทยทุกคนด้วย และเป็นการกระทำที่เปิดเผยตามขั้นตอนทั่วไป คือให้นายดิเรก ชัยนาม ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น เป็นผู้ไปชี้แจง มิใช่เรื่องลึกลับซับซ้อนเป็นหลักฐานใหม่ที่เพิ่งค้นพบแต่อย่างใด

การที่ข้าพเจ้าหยิบยกคำให้การของหลวงนิตย์ฯ มาแสดงเพราะหลวงนิตย์ฯเป็นแพทย์คนแรกที่ได้เห็นพระบรมศพ และที่สำคัญเป็นผู้ได้รับความไว้วางใจให้ถวายการรักษาพยาบาล แก่ราชตระกูลมหิดลอย่างใกล้ชิด ฉะนั้น คำให้การของหลวงนิตย์ฯย่อมเป็นคำให้การที่เป็นความสัตย์ และต้องยึดประโยชน์ในการสืบสวน สอบคดีเป็นหลัก ไม่มีเหตุผลใดที่หลวงนิตย์ฯผู้จงรักภักดี จะให้การเป็นเท็จ
คุณพ่อของข้าพเจ้าได้เขียนตอบโต้ผู้ฝ่าฝืนสัจจะ บิดเบือนความจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคตมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2517 ไม่น่าเชื่อว่าจนปี พ.ศ.2553 คุณพ่อของข้าพเจ้าได้ละสังขารจากโลกนี้ไปแล้ว ข้าพเจ้าผู้เป็นบุตร ยังต้องมาเขียนชี้แจงความจริงในเรื่องเดียวกันอยู่อีก อย่างไรก็ดี ข้าพเจ้าเชื่อเหมือนที่คุณพ่อของข้าพเจ้าเชื่อมาตลอดชีวิตว่า
สัจจะยังคงเป็นสัจจะ และไม่มีผู้ใดสามารถทำลายล้างสัจจะแห่งคดีประวัติศาสตร์นี้ไปได้.

ที่มา  มติชน
 

วันจันทร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2553

รายชื่อหนังสือต้องห้ามในอดีต



รายชื่อหนังสือต้องห้าม (ปัจจุบันยกเลิกไปแล้ว)
ประกาศกระทรวงมหาดไทย
เรื่อง กำหนดชื่อเอกสารและสิ่งพิมพ์ที่ห้ามผู้ใดมีไว้ครอบครอง 

      ด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเอกสารสิ่งพิมพ์ต่อไปนี้ เป็นเอกสารสิ่งพิมพ์ซึ่งเสนอข่าวสาร บทความ และข้อเขียนแสดงความคิดเห็นอันส่อไปในทางก่อให้เกิดความแตกแยกความสามัคคีในชาติ หรือชี้นำผู้อ่านให้เกิดความนิยมเลื่อมใสในลัทธิคอมมิวนิสต์ หรือให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน หรือให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน คือ
1. การเมืองเรื่องของประชาชน เขียนโดย แนวร่วมประชาชาติกันทรารมย์
2. เก้าอี้ป่า เขียนโดย เก้าอี้ป่า
3. การ์ตูนปฏิวัติจากจีนใหม่ หญิงแดง จดหมาย ขนไก่ กองทหาร เขียนโดย หวาซาน หลิวจี้อิ่ว
4. การปฏิวัติของจีน เขียนโดย กองบรรณาธิการ สังคมศาสตร์ปริทัศน์
5. การศึกษาปฏิวัติประชาชนลาว เขียนโดย ไกรสร พรหมวิหาร
6. ก่อนไปสู่ภูเขา แปลโดย สถาพร ศรีสัจจัง
7. กาพย์กลอนเหมาเจ๋อตุง แปลโดย ประไพ วิเศษธานี
8. เข้าโรงเรียน เขียนโดย กวั่นหวา
9. ข้อขัดแย้งระหว่างสหภาพโซเวียต กับ จีน เขียนโดย กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เหยินหมิน ยึเป้า และกองบรรณาธิการนิตยสารหงฉี
10. คติพจน์ประธานเหมาเจ๋อตุง ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน แต่พิมพ์ที่สำนักพิมพ์ต่างประเทศ ปักกิ่ง และสุนทรการพิมพ์ หจก.จรัลสนิทวงศ์ บางพลัด กรุงเทพมหานคร
11. คัมภีร์นักปฏิวัติ เขียนโดย กลุ่มอิสานปฏิวัติ
12. คาร์ลมาร์กซ์ ผู้สร้างทฤษฎีนิรันดร เขียนโดย วิตาลี ไวกอดสกี
13. ความชัดเจนทางประวัติศาสตร์ของเผด็จการ ชนชั้นกรรมาชีพ ไม่ปรากฏผู้เขียน แต่พิมพ์ที่สุวิทย์การพิมพ์ ซอยอรรถสิทธ์ สาธรใต้ กรุงเทพฯ
14. เคียงข้างกันสร้างสรรค์โลก เขียนโดย แสงเสรี
15. ความคิดของเหมาเจ๋อตุง เขียนโดย สุรัฐ โรจนวรรณ
16. โจวเอินไหล ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน แต่พิมพ์ที่วัชรินทร์การพิมพ์ 364 ถนนพระสุเมรุ กรุงเทพฯ
17. จะวิเคราะห์ชนชั้นในชนบทอย่างไร เขียนโดย กลุ่มเยาวชนรับใช้ชาติ
18. จากโฮจิมินห์ ถึง เปลื้อง วรรณศรี เขียนโดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี
19. จรยุทธ-ใต้ดิน เขียนโดย ตะวันฉาย
20. จีนคอมมิวนิสต์ เขียนโดย สนอง วิริยะผล
21. จิตใจปฏิวัติ ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน แต่พิมพ์ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน
22. จีนแผ่นดินแห่งการปฏิวัติตลอดกาล เขียนโดย Jan Myrdal & Gun Kessle
23. ลัทธิสังคมนิยมแบบเพ้อฝันและแบบวิทยาศาสตร์ แปลโดย อุทิศและโยธิน
24. ลัทธิวัตถุนิยมทางประวัติศาสตร์ เขียนโดย ตะวันฉาย
25. ลัทธิเลนิน กับลัทธิแก้สมัยใหม่ เขียนโดย ชมรม 13
26. ลัทธิเลนินจงเจริญ เขียนโดย กองบรรณาธิการนิตยสารหงฉี
27. ลัทธิมาร์กซ์-เลนิน ว่าด้วยทฤษฎีสังคมนิยมที่เป็นวิทยาศาสตร์ แปลโดย ศูทร ศรีประชา
28. ว่าด้วยรากฐานทางสังคมกลุ่มหลินเปียวที่ค้านพรรค เขียนโดย เหยาเหวินหยวน
29. วิจารณ์คำแถลงของพรรคคอมมิวนิสต์อเมริกา กระจกส่องพวกลัทธิแก้ ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน แต่พิมพ์ที่ธเนศ วรการพิมพ์ 489 ถนนบำรุงเมือง กรุงเทพฯ
30. วิพากษ์ลัทธิแก้ ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน แต่พิมพ์ที่ สมชายการพิมพ์ 270/77 ซอยวิมลสรกิจ บางยี่ขัน กรุงเทพมหานคร
31. วิวัฒนาการความคิดสังคมนิยม เขียนโดย ชาญ กรัสนัยปุระ
32. ว่าด้วยรัฐบาลรวม เขียนโดย เหมาเจ๋อตุง
33. วิเคราะห์การต่อสู้ของพรรคลาวด๋อง เขียนโดย ธีรยุทธ บุญมี
34. วิวัฒนาการของมาร์กซิสม์ เขียนโดย น.ชญานุตม์
35. วัฒนธรรมจีนใหม่ เขียนโดย ไจ๋เปียน
36. วี.ไอ.เลนิน-รัฐ เขียนโดย ชมรมหนังสือแสงดาว
37. วีรบุรุษสู้รบ เขียนโดย สหพันธ์นิสิตนักศึกษาอีสานแห่งประเทศไทย
38. ว่าด้วยประชาธิปไตยรวมศูนย์ แปลโดย เศรษฐวัฒน์ ผดุงรัฐ
39. ลัทธิวัตถุนิยมวิภาษ และวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ เขียนโดย โจเซพ สตาลิน ประกาย สุชีวิน แปล
40. ภาวะของศิลปะใต้ระบอบเผด็จการฟาสซีสม์ เขียนโดย จิตติน ธรรมชาติ
41. หลักลัทธิเลนิน เขียนโดย บำรุง ไพรัชวาที
42. หนทางการปฏิวัติไทย ไม่ปรากฏผู้แต่ง และไม่ปรากฏสถานที่พิมพ์
43. 50 ปี พรรคคอมมิวนิสต์คิวบา 50 ปี สหพันธ์สตรีคิวบา ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง แต่พิมพ์ที่ ประจักษ์การพิมพ์ กรุงเทพฯ
44. เดินทางทัพทางไกลไปกับประธานเหมา เขียนโดย เฉินชางเฟิ่ง
45. เดินทางไกลครั้งที่ 2 เขียนโดย เหยิน จางหลิน
46. หยางกึนซือวีรชนอมตะ เขียนโดย ว่างเฮา
47. เหมาเจ๋อตุง ผู้นำจีนใหม่ เขียนโดย เทิด ประชาธรรม
48. นอร์แมน เบทูน แปลโดย ศรีนรา
49. บนเส้นทางไปสู่สังคมนิยมจีน เขียนโดย ธีรยุทธ บุญมี
50. บทกวีเพื่อผู้ถูกกดขี่ เขียนโดย วิทยากร เชียงกูล
51. คาร์ลมาร์กซ์ ค่าจ้าง ราคา และกำไร แปลโดย ประสาท ลีลาเธียร
52. บันทึกของไพ่ฉวิน ม่านเทียนเสื่อ แปลโดย แจ่ม จรัสแสง
53. ประวัติศาสตร์ 30 ปี ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เขียนโดย หูเฉียวมุ เจอดจำรัสแปล
54. ถังเหล่ยเวียดนาม เขียนโดย อุดร ทองน้อย
55. ทหารน้อยจางก่า เขียนโดย สีกวงเย่า
56. แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ เขียนโดย คาร์ล มาร์กซ์ เฟรเดอริค เองเกลส์
57. บทวิเคราะห์วรรณกรรมยุคศักดินา เขียนโดย จิตร ภูมิศักดิ์
58. ปัญหาลัทธิเลนินในยุคของเรา เขียนโดย ชมรม ดาวรุ่ง
59. แนวร่วมปลดแอกของโฮจิมินห์ เขียนโดย บัณฑูร เวชสาร
60. นิพนธ์ปรัชญา 4 เรื่องของประธานเหมาเจ๋อตุง แปลโดย ชมรมหนังสือรวงข้าว
61. แนวทางแห่งการต่อสู้ แนวทางแห่งชัยชนะ เขียนโดย กลุ่มพลังชน
62. นักศึกษาจีนแนวหน้าของขบวนการปฏิวัติสังคม แปลโดย เทิด ธงธรรม วรรณา พรประเสริฐ
63. ด้วยเลือดและชีวิต เขียนโดย จิตร ภูมิศักดิ์
64. แนวร่วมเอกภาพเพื่อการปลดแอกแห่งชาติ เขียนโดย ชมรมหนังสืออิสรภาพ
65. ทฤษฎีการเมืองว่าด้วยเศรษฐศาสตร์การเมือง สำหรับชนชั้นกรรมาชีพ แปลโดย เมธี เอี่ยมเจริญ
66. ชีวทัศน์หนุ่มสาว ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน แต่พิมพ์ที่บริษัทบพิธการพิมพ์ 70 ถนนราชบพิธ กรุงเทพมหานคร
67. ชีวทัศน์เยาวชน ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน และไม่ปรากฏที่พิมพ์
68. ชาวนาไทยกับการเปลี่ยนแปลง แปลโดย สุเทพ สุนทรเภสัช
69. เช กูวารา นายแพทย์นักปฏิวัติผู้ยิ่งใหญ่ เขียนโดย ศรีอุบล
70. ชีวิตในคอมมูน เขียนโดย สันติสุข
71. ชนกรรมาชีพทั่วโลก จงสามัคคีกันคัดค้านศัตรูร่วมกับเรา เขียนโดย สำนักพิมพ์เข็มทิศ
72. ซ้ายทารก เขียนโดย วี.ไอ.เลนิน
73. สืบทอดภารกิจปฏิวัติ เขียนโดย ชมรมดาวรุ่ง
74. สุนทรพจน์ของประธานเหมาเจ๋อตุง ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง แต่พิมพ์ที่ศรีเพ็ชรการพิมพ์ 169/120 ตรอกวัดดีดวด บางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร
75. สงครามปฏิวัติ เขียนโดย ชมรมดาวรุ่ง
76. สงครามกองโจรของ เช กูวารา แปลโดย ฤตินันทน์
77. สรรนิพนธ์ โฮจิมินห์ แปลโดย วารินทร์ สินสูงสุด ปารวดี วรุณจิต
78. เสียงร้องของประชาชน แปลโดย จิรนันท์ พิตรปรีชา
79. สงครามยืดเยื้อ เขียนโดย เหมาเจ๋อตุง
80. สรรนิพนธ์เลนิน คอมมิวนิสต์ปีกซ้าย โรคไร้เดียงสา แปลโดย นพคุณ ศิริประเสริฐ
81. สรรนิพนธ์เลนิน เพื่อคนจนในชนบท แปลโดย พัลลภา ปั้นงาม
82. สงครามอุโมงค์ เขียนโดย เจ๋อเหมย ปี้เหลย
83. สตรีกับภารกิจแห่งการปฏิวัติ เขียนโดย จินดา ไชยโยทยาน
84. ยืนหยัดเคียงบ่าเคียงไหล่ ต่อสู้กับคลื่นลม ไม่ปรากฏผู้เขียน และไม่ปรากฏที่พิมพ์
85. ระลึกคอมมูนปารีสครบร้อยปี เขียนโดย ชมรมหนังสือตะวันแดง
86. ศัพทานุกรมปรัชญา เขียนโดย เมธี เอี่ยมเจริญ
87. สาธารณรัฐประชาชนจีน แปลโดย ถ่องแท้ รจนาสัณห์
88. เมาเซตุง เขียนโดย ศิรวิทย์
89. ยูโกสลาเวีย เป็นสังคมนิยมจริงหรือ ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน แต่พิมพ์ในสาธารณรัฐประชาชนจีน
90. ปัญหาปฏิวัติประเทศไทย เขียนโดย กลุ่มชนภูเขา
91. เอกสารสมัชชาผู้แทนทั่วประเทศครั้งที่ 10 ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน เขียนโดย กลุ่มเยาวชนรักชาติ
92. โฉมหน้าใหม่ของประวัติศาสตร์ไทย เขียนโดย สายใย เทอดชูธรรม
93. พระเจ้าอยู่ที่ไหน เขียนโดย นายผี
94. พระสงฆ์ลาวกับการปฏิวัติ เขียนโดย คำตัน
95. แล้วเราก็ปฏิวัติ ไม่ปรากฏผู้เขียน แต่พิมพ์ที่ เจริญวิทย์การพิมพ์ บ้านพานถม กรุงเทพมหานคร
96. รัฐกับการปฏิวัติ เขียนโดย วี.ไอ.เลนิน
97. เลนินจักรวรรดินิยมชั้นสูงสุดของทุนนิยม แปลโดย ประสาท ลีลาเธียร
98. ว่าด้วยปัญหาที่ดินและชาวนาของประธานเหมาเจ๋อตุง ไม่ปรากฏผู้เขียน และไม่ปรากฏที่พิมพ์
99. วีรสตรีจีนปฏิวัติหลิวหูหลาน แปลโดย วีรจิตร
100. อัลเยนเด้วีรปฏิวัติ เขียนโดย สูรย์ พลังไทย

      อาศัยอำนาจตามคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 43 ลงวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ.2519 ข้อ 2 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงขอประกาศให้ทราบทั่วกันว่าเอกสารสิ่งพิมพ์ รวม 100 ฉบับ ตามรายชื่อข้างต้นซึ่งต้องห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ครอบครอง
ประกาศ ณ วันที่ 3 มีนาคม 2520
สมัคร สุนทรเวช
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

******************************

ประกาศกระทรวงมหาดไทย
เรื่อง กำหนดชื่อเอกสารและสิ่งพิมพ์ที่ห้ามผู้ใดมีไว้ครอบครอง
( ปัจจุบันถูกยกเลิกไปแล้ว ) 

      ด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเอกสารและสิ่งพิมพ์ต่อไปนี้ เป็นเอกสารและสิ่งพิมพ์ซึ่งเสนอข่าวสาร บทความ และข้อเขียน แสดงความคิดเห็นอันส่อไปในทางก่อให้เกิดความแตกแยกความสามัคคีในชาติ หรือชี้นำให้ผู้อ่านเกิดความนิยมเลื่อมใสในลัทธิคอมมิวนิสต์ หรือให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน หรือให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินไม่ว่าวิถีทางใด อันเป็นการทำลายความมั่นคงของชาติ ตามบัญชีรายชื่อต่อไปนี้
1. กบฏ-วรรณกรรมซาดิสม์ เขียนโดย โกสุม พิสัย
2. กบฏปากกา จัดพิมพ์โดย ชมรมสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
3. กวีการเมือง เขียนโดย โยธิน มหายุทธนา
4. การต่อสู้ทางชนชั้นและการปฏิวัติสังคม ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน
5. การต่อสู้ของกรรมกรไทย ไม่ปรากฏผู้เขียน
6. การศึกษาเพื่อมวลชน เขียนโดย จักรกฤษณ์ นาคะรัต เสกสรรค์ ประเสริฐกุล นิโคลัส เบนเนสท์ จูเลียส ไนเยียเร รวบรวมโดย สมาน เลือดวงหัด เริงชัย พุทธาโร
7. การศึกษาสำหรับผู้กดขี่ เขียนโดย เปาโลว์ แฟร์ แปลโดย ช. เขียวพุ่มแสง
8. การปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพกับลัทธิแก้ ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน
9. กอ.รมน. องค์การสัตว์นรกของอเมริกันในประเทศไทย เขียนโดย ยอดธง ทับทิวไม้
10. กลุ่มทุนนิยมผูกขาดในประเทศไทย เขียนโดย ณรงค์ เพชรประเสริฐ
11. กลั่นมาจากสายเลือด เขียนโดย วัฒน์ วรรลยางกูร
12. กรรมกรในระบบนายทุน เขียนโดย สุภชัย มนัสไพบูลย์
13. กลยุทธ์ในการแก้ปัญหาความยากจนในประเทศไทย เขียนโดย รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์
14. กงล้อประวัติศาสตร์จีน เขียนโดย สุวรรณ วิริยะผล
15. การวิจัยเพื่อขายชาติ เขียนโดย รัก เอกราชไม้กล้า
16. ก่อนสู่เส้นทาง จัดพิมพ์โดย องค์การนิสิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒบางแสน
17. ก่อนกลับบ้านเกิด จัดพิมพ์โดย ชมรมนักแปลนิรนาม
18. กฎหมายสหภาพแรงงานประชาชนจีน ธรรมนูญสหภาพแรงงานประชาชนจีน การประทับแรงงาน เขียนโดย แก้ว กรรมาชน
19. กรณีพิพาทไทย-ลาว จัดพิมพ์โดย กลุ่มนักศึกษา ปัญหาไทย-ลาว
20. ขบวนการกรรมกรในประเทศไทย เขียนโดย พิชิต จงสถิตย์วัฒนา
21. ขบวนการเรดการ์ด เขียนโดย จำลอง พิศนาคะ
22. ขบวนการคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย เขียนโดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี
23. ความเรียงว่าด้วยศาสนา เขียนโดย ยอร์จ ทอมสัน แปลโดย จิตร ภูมิศักดิ์
24. ความเป็นเอกภาพของชาติกับปัญหาสามจังหวัดภาคใต้ เขียนโดย ปรีดี พนมยงค์ แช่ม พนมยงค์ อำนาจ ยุทธวิวัฒน์ ภูเขาไฟ สุพจน์ ด่านตระกูล สุภัทร์ สุคนธาภิรมย์
25. คาร์ลมาร์กซ์ แปลโดย จิตร ภูมิศักดิ์
26. โครงสร้างสถานการณ์ จัดพิมพ์โดยกลุ่มนักศึกษาประชาชนเพื่อต่อต้านสงครามจิตวิทยา
27. คู่มือรัฐประหาร เขียนโดย พันศักดิ์ วิญญรัตน์
28. ใครละเมิดอำนาจอธิปไตย เขียนโดย เขียน ธีระวิทย์ พันศักดิ์ วิญญรัตน์ สุชาติ สวัสดิ์ศรี
29. คัมภีร์ของผู้ถูกกดขี่ เขียนโดย เปาโลว์แฟร์ แปลโดย จิราภรณ์ ศิริสุพรรณ
30. คำประกาศของความรู้สึกใหม่ เขียนโดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี
31. คำประกาศเพื่อสังคมใหม่ เขียนโดย จูเลียส ไนยาเร แปลโดย สันติสุข โสภณศิริ
32. ครอง จันดาวงศ์ และชีวิตบนเทือกเขาภูพานของ จิตร ภูมิศักดิ์ ไม่ปรากฏผู้เขียน
33. คาร์ลมาร์กซ์ แรงงานรับจ้างและทุน เขียนโดย คาร์ลมาร์กซ์ แปลโดย รจเรข ปัญญาประสานชัย
34. คิดอย่างเยาวชนใหม่ จัดพิมพ์โดย กลุ่มหนังสือตะวันแดง
35. จงพิทักษ์เจตนารมย์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม เขียนโดย ปรีดี พนมยงค์
36. จงร่วมกันสร้างสรรค์สังคมนิยม เขียนโดย กิม อิล ซอง แปลโดย กิตติกุล
37. จากเล็กซิงตันถึง…สิบสี่ตุลา จัดพิมพ์โดย ชมรมรัฐศึกษา สจม.พรรคจุฬาประชาชน
38. จีน…หลังการปฏิวัติ เขียนโดย สิทธิสถิตย์
39. โฉมหน้าจีนใหม่ จัดพิมพ์โดย องค์การบริหาร องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
40. โฉมหน้าศักดินาไทย เขียนโดย สมสมัย ศรีศูทรพรรณ
41. มนุษยธรรมกับการต่อสู้ทางชนชั้น เขียนโดย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล
42. มาร์กซ์ จงใจจะพิสูจน์อะไร อย่างไร? เขียนโดย สุภา ศิริมานนท์
43. ศัตรูประชาชน แปลโดย กวี ศรีประชา
44. เศรษฐกิจในระบอบประชาธิปไตยแผนใหม่ เขียนโดย เสิ่นจื้อหย่วน แปลโดย ส.ว.พ.
45. เศรษฐกิจของจีน (โดยสังเขป) เขียนโดย เจิ้งสือ
46. เศรษฐศาสตร์เพื่อมวลชน เขียนโดย วิภาษ รักษาวาที
47. ศัพทานุกรมปรัชญาว่าด้วยจิตนิยมวัตถุนิยม เขียนโดย เมธี เอี่ยมเจริญ
48. แนวทางการต่อสู้ของ นักเรียน นิสิต นักศึกษา จัดพิมพ์โดย กลุ่มนักศึกษาประชาชนเพื่อพัฒนาชนบท
49. แนวร่วมปลดแอกประชาชนชาวไทย เขียนโดย โดนัลด์ อี วีเทอร์บี แปลโดย แสงเพลิง
50. แนวทางการศึกษาประวัติศาสตร์โลก เขียนโดย ฌี่ชุน แปลโดย ศรีอุบล
51. นิพนธ์ 5 บท ประธานเหมาเจ๋อตุง จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ปฏิวัติ
52. ร้อยกรองจากซับแดง เขียนโดย ประเสริฐ จันดำ
53. รุ่งอรุณ ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน
54. แด่เยาวชน ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน
55. เบทูนนายแพทย์นักปฏิวัติ ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน
56. ปลุกผีคอมมิวนิสต์ เขียนโดย ธนาลัย
57. ปัญหาและแนวทางการต่อสู้ของผู้หญิง เขียนโดย ฤดี เริงชัย
58. หลักเศรษฐศาสตร์มาร์กซิสต์เบื้องต้น เขียนโดย เอิร์นเนสท์ แมนเดล แปลโดย ทวี หมื่นนิกร
59. หลักลัทธิเลนินกับการต่อสู้ด้วยอาวุธ เขียนโดย เอ.นูเบอร์ก แปลโดย รุ่งอรุณ ณ บูรพา
60. หลักลัทธิมาร์กซ์เลนิน เล่ม 1-3 แปลโดย ทวี หมื่นนิกร
61. โต้ลัทธิแก้ไทยวิจารณ์แห่งวิจารณ์ เขียนโดย อุทิศ ประสานสภา
62. ตะวันสีแดงส่องทาง เขียนโดย อุดร ทองน้อย
63. ตะวันสีแดง เขียนโดย สุทัศน์ เอกา
64. ตะวันดวงใหม่แห่งบูรพา เล่ม 1-2 เขียนโดย ทวี เกตะวันดี
65. ตื่นเถิดชาวเอเชีย เขียนโดย วี.ไอ.เลนิน
66. ไทย-ไท จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ ไทย-ไท
67. วิญญาณปฏิวัติ เขียนโดย สีหนาท
68. ทนายแก้ต่างของลัทธิล่าเมืองขึ้นใหม่ จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ภาษาต่างประเทศปักกิ่ง
69. ด้วยมือที่หยาบกร้าน เขียนโดย นายผี รมย์ รติวัน ช.เพ็ญแข คุณาวุฒิ ไพฑูรย์สุนทร ศิริรัตน์ สถาปนวัฒน์
70. เดินทางซ้าย เขียนโดย ณรงค์ วิทยไพศาล
71. พิทักษ์เจตนารมณ์วีรชน จัดพิมพ์โดย ฝ่ายเอกสารและสิ่งพิมพ์ งานรำลึกวีรชน 14 ตุลา ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย
72. วิพากษ์ นายผีโต้ลัทธิแก้ไทยวิจารณ์แห่งการวิจารณ์ อุทิศ ประสานสภา เขียนโดย อำนาจ ยุทธวิวัฒน์
73. วิพากษ์ ทฤษฎีจอมปลอม เขียนโดย กระแสทาน พรสุวรรณ
74. พลิกฟ้า คว่ำแผ่นดิน เขียนโดย รวี โดมพระจันทร์
75. วีรชนอาเซีย จัดพิมพ์โดย กองบรรณาธิการ สังคมศาสตร์ปริทัศน์
76. ทัศนคติ ชีวิตที่ก้าวหน้า จัดพิมพ์โดย กลุ่มพัฒนา วัฒนธรรม
77. โลกทัศน์เยาวชน เขียนโดย อนุช อาภาภิรม
78. ไทยกึ่งเมืองขึ้น เขียนโดย อรัญ พรหมชมภู
79. วิเคราะห์วรรณกรรมแนวประชาชน เขียนโดย นศินี วิทูธีรศานต์
80. ที่เขาเรียกกันว่าลัทธิแก้นั้นหมายความว่ากระไร และความเป็นมาแห่งลัทธิรีวิสชั่นนิสม์ เขียนโดย ปรีดี พนมยงค์
81. ฟ้าทอง เขียนโดย อนุช อาภาภิรม
82. ยุทธวิธีของชาวบอลเชวิค เขียนโดย เจ.วี สตาลิน แปลโดย นพพร สุวรรณพาณิช
83. ผู้หญิง (1) เขียนโดย ปนัดดา เลิศล้ำอำไพ จีรนันท์ พิตรปรีชา ศรีศักดิ์ นพรัตน์ สุขสันต์ เหมือนนิรุทธ์
84. เยาวชนผู้บุกเบิก แปลโดย ศรีสารคาม
85. สรรนิพนธ์เหมาเจ๋อตุง (ทุกภาค ทุกตอน) เขียนโดย เหมาเจ๋อตุง
86. สรรนิพนธ์การทหารเหมาเจ๋อตุง เขียนโดย เหมาเจ๋อตุง
87. ผ่าตัดพุทธศาสนา จัดพิมพ์โดย ฝ่ายวิชาการองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
88. วันกรรมกร นครราชสีมา ไม่ปรากฏผู้เขียน
89. ซ้องกั๋ง แบบอย่างลัทธิยอมจำนน เขียนโดย ศิวะ รณชิต
90. ศาส์นศยาม ไม่ปรากฏผู้เขียน
91. โลกทัศน์เยาวชน ฉบับเสียงเยาวชน เขียนโดย อนุช อาภาภิรม
92. สภาพการกดขี่ขูดรีด ชาวนา ชาวไร่ไทย เขียนโดย จรัส จัณฑาลักษณ์
93. เยาวชนแดง “นิทานพื้นเมืองยุคปฏิวัติ” ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน
94. ระบบทุนนิยมในสังคมไทย เขียนโดย จันดา สระแก้ว
95. กบฏ ร.ศ.130 เขียนโดย ร้อยตรี เหรียญ ศรีจันทร์ ร้อยตรี เนตร พูนวิวัฒน์
96. ไทย-ไดเจสท์ ฉบับที่ 4 ปีที่ 1 พฤษภาคม 2518 บรรณาธิการบริหาร มนตรี จึงสิริอารักษ์
97. LENIN SELECTED WORKES
98. LENIN ON WORKERS CONTROL AND THE NATIONNALISATION OF INDUSTRY
99. LENIN ON THE UNITY OF THE INTERNATIONAL : COMMUNIST MOVEMENT
100. MARX ENGELS LENIN
101. MAN AND THE SCIENTIFIC AND TECHNOLOGICAL REVOLUTION
102. SOCIALISM TODAY
103. TERIA Y CRITICA PROGRESO
104. YOUTH AND THE PARTY
      อาศัยอำนาจตามคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 43 ลงวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ.2519 ข้อ 2, ข้อ 4 และข้อ 5 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงขอประกาศให้ทราบทั่วกันว่าเอกสารและสิ่งพิมพ์ รวม 104 ฉบับ ตามบัญชีรายชื่อข้างต้นนี้ เป็นเอกสารและสิ่งพิมพ์ซึ่งต้องห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ครอบครอง
      อนึ่ง ให้เจ้าของผู้ครอบครองเอกสารและสิ่งพิมพ์ ตามบัญชีรายชื่อข้างต้นนี้ และเจ้าของผู้ครอบครองเอกสารและสิ่งพิมพ์ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่ม 94 ตอนที่ 18 วันที่ 11 มีนาคม พุทธศักราช 2520 นำส่งมอบแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ณ ท้องที่ที่ตนอาศัยอยู่ ภายในกำหนด 30 วัน นับแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 6 ตุลาคม 2520
สมัคร สุนทรเวช
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย