ซีเบ๊จี่อิง เป็นนักเขียนนามโรจน์ของไต้หวัน จัดเป็นหนึ่งในสามนักเขียนรุ่นใหม่ของไต้หวัน มีความเป็นมาและผลงานการเขียนพอสรุปได้ดังนี้
ซีเบ๊จี่อิง (ซีเบ๊เป็นแซ่สองตัว จี่อิงแปลว่าควันม่วง) มีชื่อจริงว่า เตียโจ้วท้วง เป็นชาวมณฑลอานฮุย สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยซือต้าและต้าเจียง คณะอักษรศาสตร์ ระหว่างที่อยู่ในช่วงการศึกษา ก็เริ่มหัดเขียนนิยาย ผลงานที่อยู่ในความทรงจำที่สุด เป็นนิยายชีวิตที่มีความยาวประมาณสองหมื่นกว่าตัว ตั้งชื่อว่า โคมเขียว นำลงในหนังสือพิมพ์หมิงจู๋หวั่นเป้า ฉบับบ่าย เขียนถึงชีวิตของนางโลมอายุเยาว์ และอันธพาลในท้องที่ แจกแจงธาตุแท้ใจคอของผู้คนอย่างลึกซึ้ง ได้รับคำชมจากอาจารย์ของเขา ซึ่งปัจจุบันเป็นนักเขียนหญิงนามเจี่ยเปียเอี้ยงอย่างมาก
หลังจากจบการศึกษา ซีเบ๊จี่อิงได้เข้ารับการเกณฑ์ทหาร ประจำอยู่หน่วยวิทยุสื่อสาร ระหว่างนั้น อ้อเล้งเซ็ง และ จูกัวะแชฮุ้น ล้วนแล้วแต่มีชื่อเสียงกระเดื่องดัง นิยายกำลังภายในเป็นที่ต้องการของหนังสือพิมพ์และสำนักพิมพ์ต่างๆ ซีเบ๊จี่อิงก็เริ่มจับปากกาเขียนนิยายกำลังภายในดูบ้าง โดยใช้นามปากกาซีเบ๊จี่อิง ซึ่งตีคู่กับจูกัวะแชฮุ้น กล่าวคือซีเบ๊กับจูกัวะเป็นแซ่สองตัว จี่อิงแปลว่าควันม่วง พอดีคู่กับแชฮุ้นซึ่งแปลว่าเมฆเขียว
ผลงานเรื่องแรกของซีเบ๊จี่อิงคือ กังโอ้วแม้โหวจับนี้เต็ง ซึ่งสถานีโทรทัศน์ไต้หวันเพิ่งดัดแปลงสร้างเป็นภาพยนตร์ทีวี เมืองไทยก็มีวีดีโอเทปตั้งชื่อว่า ศึกชุมนุมเจ้ายุทธจักร เรื่องนี้ได้รับการกล่าวขวัญถึงไม่น้อย จึงตกลงเขียน กังโอ้วแม้โหวจับนี้เต็ง ภาค 2 ต่อด้วยเรื่อง แป๊ะเท้างิ้ม (ผมขาวรำพัน) รวมเป็นหนังสือปกอ่อนถึง 77 เล่ม นับเป็นเรื่องยาวอันดับสองรองจากอ้อเล้งเซ็ง ซึ่งเขียนเรื่องกิมเกี่ยมเตียวเล้ง (กระบี่ป้องปฐพี) มีความยาว 96 เล่ม
นอกจากนั้น ซีเบ๊จี่อิงยังมีผลงานดีเด่นอีกมากมาย นำความแปลกใหม่มาสู่วงการนิยายกำลังภายใน อาทิเช่นเรื่องโชยชิ่วบ๊วยฮวยเจ่กเกี่ยมฮั้ง (นักสู้สะท้านภพ) บ้วนลี้กังซัวเจ่กโกวเคี้ย (มารผยอง) กิมป๊กโกว (เกาทัณฑ์สยบฟ้า) เป็นต้น ท่านที่เคยอ่านผลงานของท่านผู้นี้มาบ้างคงทราบดี
ระหว่างที่ซีเบ๊จี่อิงทำงานในกรมสื่อสารทหาร ต้องอยู่ท่ามกลางอากาศร้อนอบอ้าวที่ผู้คนทั่วไปแทบทนทานไม่ได้ แต่เขายังสามารถนั่งเค้นสมองเขียนนิยายกำลังภายใน ถือเป็นความสามารถที่เหลือเชื่อประการหนึ่ง
ซีเบ๊จี่อิงยังมีความสามารถพิเศษอีกประการหนึ่งคือนั่งทน เขาให้สัมภาษณ์ว่าเมื่อจับปากกาเขียนหนังสือจะหยุดไม่ได้ ต่อให้เหน็ดเหนื่อยสาหัสเพียงไหนยังต้องเขียนต่อไป พอหยุดมือเมื่อใดจะไม่อยากเขียนอีก เขาเคยทำสถิตินั่งทนเป็นเวลายี่สิบชั่วโมง ในยี่สิบชั่วโมงนี้ไม่ลุกจากเก้าอี้ มือไม่ห่างจากปากกา ใช้มือซ้ายยกถ้วยชาหยิบจับอาหารแทน
ซีเบ๊จี่อิงแม้ทำงานนั่งทน แต่นิสัยกลับชอบเคลื่อนไหว ระหว่างเล่าเรียนหนังสือเป็นนักกีฬาตัวยง ชอบทั้งฟุตบอล บาสเกตบอล และวอลเลย์บอล นอกจากนั้นยังโปรดปรานสุรา เพียงแต่ไม่พิถีพิถันการดื่มเช่นโก้วเล้ง ไม่ว่าเหล้าอะไรก็ได้ แต่ขณะที่ดื่มเหล้ามีโรคแปลกอย่างหนึ่ง คือชอบหลั่งเหงื่อตลอดเวลา ดังนั้นความสามารถในการดื่มจัดอยู่ในขั้นคอทองแดงคนหนึ่ง
คนไม่อาจวัดคำนวณด้วยรูปโฉม หน้าตาของซีเบ๊จี่อิงราบเรียบธรรมดา แต่มันสมองและปัญญาความคิดของเขายากที่จะมีคนเสมอเหมือน เขาสามารถเขียนนิยายกำลังภายใน เขียนนิยายชีวิต เขียนอาชญนิยาย เขียนนิยายกังฟู เขียนนิยายอิงประวัติศาสตร์ กล่าวได้ว่าเขียนได้แทบทุกแนว
เขาเคยเขียนนิยายกังฟูให้กับหนังสือพิมพ์ยูไนเต็ด โดยใช้นามปากกา จูเอี้ยง เขียนนิยายเกร็ดประวัติศาสตร์ให้กับหนังสือพิมพ์ต้าหัวหวั่นเป้า ด้วยเรื่องจี่เง็กเทย โดยใช้นามปากกาซีเบ๊ ซึ่งสร้างชื่อให้กับเขาเช่นกัน ใช้เวลานำลงในหนังสือพิมพ์ถึงสี่ปี ระหว่างนี้ยังเขียนบทความเรื่องแก่นแท้เพลงมวยไท้เก๊ก นำลงในหนังสือพิมพ์สากลที่ตีพิมพ์ในสหรัฐอเมริกา โดยใช้นามปากกา จี่โซ่ว (เฒ่าม่วง) ใช้หลักวิทยาศาสตร์แยกแยะความลึกซึ้งไพศาลของเพลงมวยไท้เก๊ก อธิบายเคล็ดความกระบวนท่าต่างๆโดยละเอียด ตลอดจนเคล็ดลับของการใช้พลังอย่างไร สร้างความสั่นสะเทือนแก่วงการหมัดมวยแถบโพ้นทะเล และเพื่อนร่วมชาติที่ฝึกเพลงมวยไท้เก๊กไม่น้อย ดังนั้นซีเบ๊จี่อิงสมควรรับคำ “ปัญญาลึกล้ำดั่งห้วงสมุทร” ได้อย่างแท้จริง
ใน คำโปรยเรื่อง กระบี่เหนือกระบี่ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 โดย น. นพรัตน์
ผลงานที่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทย
1. กระบี่เหนือกระบี่ น. นพรัตน์ เรื่องเดียวกับ บัลลังก์ทอง จำลอง พิศนาคะ
จำนวนเล่มจบ : 4 เล่มจบ - สยามสปอร์ตพับลิชชิ่ง - อ้างอิงพิมพ์ปี พ.ศ. 2528
จำนวนเล่มจบ : 3 เล่มจบ - วิถีบูรพา - อ้างอิงพิมพ์ปี พ.ศ. 2553
ข้อมูลเพิ่มเติม : เรื่องเดียวกับ บัลลังก์ทอง (จำลอง พิศนาคะ)
เนื้อเรื่องย่อ : ต้นกำเนิด ประสบการณ์ ตลอดจนชีวิตความรักที่ผิดแผกแตกต่างจากสามัญชนคนธรรมดา เพลงกระบี่ของบู๊ลิ้มตงง้วน ยอดวิชาของตระกูลเร้นลับ เพลงดาบซามูไรจากแดนอาทิตย์อุทัย ทุกวิทยายุทธล้วนละเอียดลึกล้ำ การหักเล่ห์ชิงเหลี่ยม ต่อสู้ด้วยไหวพริบและฝีมืออย่างน่าทึ่ง จากเหตุการณ์หนึ่ง สู่อีกเหตุการณ์หนึ่ง มรสุมลูกหนึ่งทะยอยไล่มรสุมอีกลูกหนึ่ง..... โดยเฉพาะ ตีแผ่ธาตุแท้จิตใจคน ความลึกซึ้งชั่วร้ายของมนุษยชาติอย่างถึงแก่น
2. นักสู้สะท้านภพ น. นพรัตน์ เรื่องเดียวกับ ฝ่ามือสังหาร ช. โชคสัมฤทธิ์
นักสู้สะท้านภพ (โชยชิ่วบ๊วยฮวยเจ่กเกี่ยมฮั้ง)
ผู้แต่ง : ซี่เบ๊จี่อิง
ผู้แปล : น. นพรัตน์
จำนวนเล่มจบ : 24 เล่มจบ - บรรณกิจ -อ้างอิงพิมพ์ปี พ.ศ. 2520
จำนวนเล่มจบ : 6 เล่มจบ - บรรณกิจ -อ้างอิงพิมพ์ปี พ.ศ. 2521
จำนวนเล่มจบ : 5 เล่มจบ - สยามสปอร์ตพริ้นติ้ง - อ้างอิงพิมพ์ปี พ.ศ. 2537
3. กระบี่พิศวาส น. นพรัตน์
4. มารกระบี่เดียว น. นพรัตน์
5. เกาทัณฑ์สยบฟ้า ว. ณ เมืองลุง
6. มารผยอง ว. ณ เมืองลุง


มารผยอง (ป้วนลี้กังซัวเจ่กโกวเคี้ย)
ผู้แต่ง: ซี่เบ๊จี่อิง
ผู้แปล: ว. ณ เมืองลุง
พิมพ์ครั้งที่ 1 สำนักพิมพ์เพลินจิตต์ เล่มบางจำนวน 22 เล่มจบ ปี พ.ศ. 2509
พิมพ์ครั้งที่ 2 สำนักพิมพ์คลังวิทยา จำนวน 6 เล่มจบ ปี พ.ศ. 2524
กวนซัวง้วยเป็นเจ้าของประกาศิตอูฐขาวรุ่นที่2 นัดประลองกับยอดฝีมือจากสำนัก ค่าย ป้อมต่างๆทั้งแผ่นดิน เนื่องจากเมื่อ 20 ปีก่อนอาจารย์ที่เป็นเจ้าของประกาศิตรุ่นที่ 1 ได้ตระเวนประลองเดิมพันเอาชนะทุกๆสำนักจนได้สัญลักษณ์ประจำของทุกสำนักมาเก็บรักษาไว้ แลัวนัดว่า 20 ปีให้หลังให้มาประลองกันใหม่ ทุกคนเลยขวนขวายฝึกฝีมือเพื่อจะชิงสัญลักษณ์ของสำนักตนเองคืน เป็นการเปิดเรื่องที่เยี่ยมยอดมากครับ
ต่อมาเป็นเรื่องของหุบเขาหนึ่งที่ดำเนินแผนจะครองบู๊ลิ้มและพระเอกต้องขัดขวาง ส่วนเนื้อเรื่องหลักเป็นการที่พระเอกไปสืบสาวความลับของชมรมทวยเทพซึ่งรวบรวมยอดฝีมือไว้มากมายและลึกลับสุดยอด และกลับเกี่ยวพันกับพระเอกอย่างแนบแน่นทำให้ต้องไปเกี่ยวข้อง ต่อมาพระเอกซึ่งเป็นกำพร้าที่อาจารย์เก็บมาเลี้ยงไปค้นพบชาติกำเนิดซึ่งซับซ้อนจนต้องสะสางบุญคุณความแค้นไปพร้อมๆกับการขัดขวางมารร้ายที่จะครองยุทธจักร ก็จบภาคแรกซึ่งก็ถือว่าสมบูรณ์ในตัว ผมพยายามเล่าแบบไม่ให้เสียอรรถรสการอ่าน พล็อตจริงๆน่าสนใจและมีจุดผกผันหลายจุดทีเดียว เป็นเรื่องยาวที่สนุกมากครับ เรื่องนี้ไม่เน้นการหักเหลี่ยมกันซับซ้อนเหมือนเรื่องอื่นๆของท่านซีเบ๊จี่อิง เสียดายที่ยังไม่มีภาคสองออกมา
7. หิมะเดือนหก ว. ณ เมืองลุง
มารผยอง (ป้วนลี้กังซัวเจ่กโกวเคี้ย)
ผู้แต่ง : ซี่เบ๊จี่อิง ผู้แปล : ว. ณ เมืองลุง
จำนวนเล่มจบ : 22 เล่มจบ (เล่มเล็ก) - เพลินจิตต์ - อ้างอิงพิมพ์ปี พ.ศ. 2509
จำนวนเล่มจบ : 6 เล่มจบ - คลังวิทยา - อ้างอิงพิมพ์ปี พ.ศ. 2524